เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาล “เศรษฐา1”  ยืนยันประกาศเจตนารมณ์บูรณาการทุกฝ่ายดูแลโครงสร้างหนี้สิน แบ่งความช่วยเหลือในระบบเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 เช่น ผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3 ล้านคน ปรับโครงสร้างหนี้ SMEs 1 ปี ลดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ,กลุ่มที่ 2 ผู้มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้เป็นจำนวนมาก เช่น ครู จำนวน 900,000 คน ที่หักหนี้เกินกฎหมาย จากดอกเบี้ยที่สูงโดยบังคับใช้กฎหมายหักเงินไปชำระหนี้ได้ไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือน หนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3-5 ต่อปีผ่อนนาน 10 ปี ,กลุ่มที่ 3 ผู้มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น เกษตรกร 2 ล้านคนพักหนี้ 3 ปี ทั้งต้นและดอกเบี้ยวงเงิน 300,000 บาทต่อราย และกลุ่มที่ 4 ผู้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นเวลานานจนติดเครดิตบุโร หรือ NPLs แนวทางให้มีการรับโอนหนี้เสียจากสถาบันการเงินของรัฐ รวมยอดลูกหนี้ในระบบทั้ง 4 กลุ่ม แล้ว กว่า 10.3 ล้านราย

ทั้งนี้ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พูดอย่างชัดเจนในการจัดการหนี้ในระบบ และนอกระบบ ที่น่าสนใจว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมานาน ทั้งในส่วนหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ครั้งนี้เป็นการเดินหน้าแก้หนี้ในระบบ ซึ่งมีปัญหาไม่แพ้กับหนี้นอกระบบ ส่งผลกระทบต่อการทำงาน บางรายเป็นหนี้เสียคงค้างมานาน จนขาดโอกาสประกอบอาชีพ ดังนั้น การดูแลลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหา จึงถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน เพราะรัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับการแก้หนี้ทั้งระบบ จัดการกวาดล้างหนี้นอกระบบ และดูแลลูกหนี้ในระบบ ให้ได้รับสินเชื่อเหมาะสม เป็นธรรม

“ก่อนพูดถึงมาตรการที่จะดำเนินการแก้หนี้ทั้งระบบ ตนขอชี้แจงทำความเข้าใจก่อนว่า ตนไม่ได้กล่าวว่าการเป็นหนี้ เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย โลกนี้มีหนี้ที่ดีอยู่ ก็คือหนี้ที่นำไปจับจ่ายใช้สอยหรือประกอบธุรกิจ โดยไม่เกินความสามารถ เป็นหนี้ที่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ เพิ่มจำนวนเงินในระบบทั้งประเทศ ดังนั้น การมีลูกหนี้ที่ดีจึงเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ต้องเข้าใจว่า สภาพเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้กลไกเหล่านี้มีข้อติดขัดหลายอย่างจนปัญหาสั่งสมใหญ่เกินกว่าจะแก้ได้โดยปราศจากภาครัฐ”

เป็นแนวทางที่รัฐบาลต้องการสร้างความชัดเจนในการสร้างโอกาสในการทำให้ประชาชนลืมตาอ้าวปากได้!!!

ขณะที่ในการลงลึกในส่วนของประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องเจอกับเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ในพื้นที่ โดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย บอกว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ยังคงมีเจ้าหนี้ข่มขู่ลูกหนี้ไม่ให้ลงทะเบียนกับรัฐบาล ซึ่งมีทั้งเจ้าหนี้ข่มขู่ลูกหนี้ และลูกหนี้เบี้ยวเจ้าหนี้ กระทรวงมหาดไทยจะไม่ให้เกิดการข่มขู่รังแกกันเกิดขึ้น การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในส่วนของกระทรวงมหาดไทยคือการไกล่เกลี่ยเจรจา ไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งรังแกกันเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการหาเงินใหม่มาให้

"ผมยังยืนยันว่าคนเป็นหนี้ก็ต้องใช้หนี้ ไม่ใช่ไปตีความว่าไม่ต้องใช้หนี้แล้ว แต่ถ้าลูกหนี้คนไหนขาดส่ง และเจ้าหนี้ไปพังร้านเขาอย่างนี้ไม่ได้ ต้องดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด หรือกรณีถ้าลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยเกินเงินต้นไปแล้วหลายสิบเท่าอย่างนี้ก็ต้องให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากฝ่ายเจ้าหนี้ไม่ยอมทั้งที่เก็บรายได้มาเยอะแล้ว ก็ต้องเข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เข้าไปดูเรื่องของภาษีด้วย คณะกรรมการที่นายกฯตั้งมา โดยมีผมเป็นประธานจะปราบปรามป้องกันไม่ให้มีการทำผิดกฎหมายเรื่องหนี้นอกระบบ ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายปกครองหรือตำรวจเท่านั้น แต่ยังมีกระทรวงการคลังอยู่ในคณะกรรมการด้วย แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของนายกฯที่ต้องการใช้กลไกรัฐสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

ด้านนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” จาก บล. เอเซีย พลัส ให้ความเห็นว่าแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งมาตรการ ระยะสั้นและระยะยาว แบ่งได้ 4 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จนเป็น NPL ซึ่งมาตรการนี้เน้นไปที่เอสเอ็มอีและรายย่อยในธนาคารของรัฐ อย่างธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้ SMEs ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเป็นเวลา 1 ปี ,2.ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ ในกลุ่มข้าราชการ ซึ่งการช่วยเหลือทำผ่านการลดอัตราดอกเบี้ย, รวมหนี้ไว้ที่เดียว และการชำระผ่านการตัดเงินเดือน

3.กลุ่มมีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งช่วยเหลือผ่านการพักชำระหนี้ชั่วคราว ลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระแต่ละงวด ให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องรายได้ลูกหนี้ หลัก ๆ เน้นไปที่เกษตรกร และ กยศ. ส่วนประเด็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีการประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา (12 ต.ค.2565) ครอบคลุมรถยนต์ส่วนบุคคล (ไม่รวมถึงผู้ที่นำไปใช้ในการขนส่ง) ให้สัญญาเช่าซื้อคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ที่ 10% ต่อปี, รถยนต์มือสอง 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ 23% ต่อปี และ 4.กลุ่มหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งแก้ไขผ่านการโอนไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยปัจจุบันขั้นตอนนี้อยู่ระหว่างทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับฟังความเห็นการเปิดทางให้ตั้งเป็น JV AMC ร่วมกัน

ทั้งนี้ ความเห็นของฝ่ายวิจัย มีมุมมองเป็นกลาง เพราะมาตรการช่วยเหลือส่วนใหญ่ ทำผ่าน ธนาคารของรัฐเป็นหลัก ขณะที่ฝั่งธนาคารเอกชน เป็นไปตามแนวทางของ ธปท. ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ทั้งกลุ่มสีฟ้า (ผ่อนผันการจัดชั้นลูกหนี้ ซึ่งช่วยเหลือมากกว่าการขยายระยะเวลาชำระหนี้) และสีส้ม (จัดชั้นตาม TFRS 9 ซึ่งช่วยเหลือเพียงขยายระยะเวลาชำระหนี้) ที่จะสิ้นสุดปี 2566 ครอบคลุมอยู่แล้ว โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีการเปิดเผยข้อมูลการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเป็นทางการได้แก่ SCB ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2566 มีมูลหนี้ภายใต้สีฟ้าราว 11-12% ของพอร์ตสินเชื่อ ตามด้วย TTB ราว 11% ของพอร์ตสินเชื่อ (กลุ่มสีฟ้าและสีส้มที่สัดส่วน 4% และ 7% ตามลำดับ ของพอร์ตสินเชื่อ) และ KBANK เป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบครอบคลุม (CDR) ราว 6.8% ของพอร์ตสินเชื่อ และ BAY (รวมซอฟต์โลน, CDR และสีส้ม) ประมาณ 6% ของพอร์ตสินเชื่อ

ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อยู่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้นแล้ว จึงไม่มีผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์อย่าง TISCO, KKP, BAY, TTB และ SCB รวมถึงกลุ่มนอนแบงก์อย่าง MTC, TIDLOR และ SAWAD ที่มีพอร์ตเซ่าซื้อ อยู่ภายใต้ประกาศข้างต้นอยู่แล้ว ขณะที่หุ้นสินเชื่อบัตรเครดิตอย่าง AEONTS, KTC (ไม่ได้จัดทำบทวิเคราะห์) ราคาหุ้นที่ปรับฐานจากกระแสลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตช่วงก่อนหน้า มีโอกาสฟื้นตัว หลังปัจจัยดังกล่าวผ่อนคลายลง

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนแบบเบ็ดเสร็จของรัฐบาล “เศรษฐา1”

การแก้ไขปัญหาหนี้จะเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน!?!

สุดท้าย!!! การไม่เป็นหนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุด!