ปาล์มน้ำมัน วันที่ 22 กันยายน 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน ณ นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล และได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับความเหมาะสมในการที่จะส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันในนิคมฯ เพื่อเป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพนอกเหนือจากการทำสวนทำไร่ ว่าการจัดสร้างโรงงานขนาดเล็กเพื่อบริการผู้ปลูกปาล์มน้ำมันนั้นมีผู้นิยมปลูกปาล์มน้ำมันมากพอสมควรแล้ว อาจมีโรงานใหญ่เพื่อผลิตวัสดุจากน้ำมันปาล์มที่สกัดมาแล้วจากโรงงานเล็กๆ ก็เป็นได้ จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ บริเวณแปลงสาธิตการปลูกปาล์มน้ำมัน ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทรงส่งเสริมการปลูกและศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง....จนถึงวันนี้ ปาล์มน้ำมันจึงได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงสร้างความอยู่ดี>กินดีให้แก่ราษฎรเท่านั้น แต่ปาล์มน้ำมันยังได้พัฒนาเป็นไบโอดีเซล พลังงานทดแทนสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต. ปาล์มน้ำมัน ( ภาค 2 ) วันที่ 23 กันยายน 2528 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานสาธิตหีบปาล์มน้ำมันขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสงขลา และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะทำงานโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานกิจการของโครงการฯ ซึ่งมีพระราชดำริให้ดำเนินการค้นคว้าและสร้างอุปกรณ์การหีบปาล์มน้ำมันขนาดเล็กโดยใช้แรงงานคนให้ครบขบวนการผลิต และหาแนวทางให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่ม สร้างโรงงานหีบปาล์มน้ำมันขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถหีบปาล์มน้ำมันเก็บไว้ในช่วงที่น้ำมันปาล์มมีราคาตกต่ำ จากนั้นจึงทอดพระเนตรแบบจำลองโรงงานหีบปาล์มน้ำมันด้วยแรงคน และทอดพระเนตรนิทรรศการเคมีเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ...ตลอดจนทอดพระเนตรขบวนการหีบปาล์มน้ำมันอันแสดงให้เห็นถึงกระบวนการพัฒนา สร้างประโยชน์จากพืชชนิดหนึ่งตามแนวพระราช ดำริ ซึ่งได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขให้แก่ราษฎรไทยแล้วในวันนี้. โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์เกษตรมูโนะ ตามพระราชดำริ วันที่ 24 กันยายน 2527 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการหมู่บ้านปศุสัตว์เกษตรมูโนะตามพระราชดำริ ณ ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และพระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งร่วมกันดำเนินโครงการความว่า “ในระยะแรกจะต้องเร่งปรับปรุงพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์รวมของหมู่บ้านให้เป็นทุ่งหญ้าเสียก่อน โดยปลูกหญ้าพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพดินพรุ และมีคุณค่าทางอาหารพอ เนื่องจากโคกระบือไม่กินหญ้าพื้นเมืองที่ขึ้นในดินพรุ ทั้งนี้เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้เลี้ยงโคที่โครงการจัดหาไว้ให้สมาชิกแล้ว ในระหว่างนั้นต้องส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงเป็ดเป็นอาชีพไปก่อน ในขณะเดียวกันทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองก็น่าจะขุดบ่อเป็นแนวขนานกับคลองมูโนะ เพื่อทดสอบปลูกบัวสำหรับเก็บดอกและเมล็ดไปจำหน่าย ตลอดจนทดลองเลี้ยงปลาน้ำจืดพันธุ์พื้นเมืองที่สามารถทนสภาพความเป็นกรดในน้ำได้ ซึ่งอาจจะเป็นปลาสำหรับบริโภคหรือปลาประเภทสวยงามก็ได้ หากน้ำในบ่อดังกล่าวมีอัตราความเป็นกรดมากเกินไปก็ควรทดลองกรรมวิธีถ่ายน้ำเพื่อล้างความเปรี้ยว โดยสูบน้ำเสียทิ้งไปอีกทางหนึ่ง แล้วผันน้ำจืดจากคลองมูโนะเข้ามาทดแทนในบ่อที่ไม่ให้ผสมกับนน้ำจืดในคลองมูโนะ” ด้วยโครงการหมู่บ้านปศุสัตว์เกษตรมูโนะและพระราชดำริที่พระราชทานไว้ ได้ก่อเกิดการพัฒนาซึ่งสร้างความเจริญและความสุขให้แก่ราษฎรในพื้นที่สืบไป . พระราชดำริพัฒนาและฟื้นฟูป่าพรุ วันที่ 25 กันยายน 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่พรุโต๊ะแดง บริเวณบ้านป่าเย ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส และมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสำรวจพรุโต๊ะแดงตอนใต้ บริเวณหมู่บ้านป่าเย เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล พระองค์มีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาพัฒนาพื้นที่ป่าพรุควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพรุโต๊ะแดง ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 120,000 ไร่ โดยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส เป็นแกนกลางในการดำเนินงาน ซึ่งได้แบ่งเขตการใช้ที่ดินพื้นที่ป่าพรุ ออกเป็น 3 เขต คือ 1. เขตป่าสงวน ให้รักษาป่าไม้อย่างเข้มงวดเพื่อคงสภาพเป็นป่าธรรมชาติสมบูรณ์ 2. เขตอนุรักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ธรรมชาติถูกทำลายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ให้ฟื้นฟูป่าสร้างความสมบูรณ์ดังเดิมและ 3. เขตพัฒนา เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมด้านการเกษตรและมีโครงการพัฒนาต่างๆ เข้าไปดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อการพัฒนาดำเนินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างผสมผสานตามแนวพระราชดำริ ได้ก่อให้เกิดความสมดุลแห่งธรรมชาติ และความเจริญงอกงามของสรรพชีวิตที่จะดำรงอยู่ร่วมกันสืบไป . เพื่อประชาชน เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทุ่มเทพระวรกาย ทรงงานหนักมาอย่างต่อเนื่องยาวนานไม่เว้นแม้แต่เวลาที่ทรงพระประชวร ก็ยังทรงห่วงใยในความทุกข์ร้อนของพสกนิกรอยู่เสมอ ดังเมื่อครั้งที่ทรงประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ช่วงเดือนกันยายน ปี 2538 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังลานชั้น 6 เพื่อทรงพระดำเนินออกกำลังพระวรกาย และทอดพระเนตรสภาพการจราจรบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเป็นเวลาพอสมควร จึงพระดำเนินกลับชั้น 7 เพื่อทรงอธิบายให้คณะแพทย์ที่ตามเสด็จทราบถึงเรื่องโครงการบรรเทาปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.... ด้วยทรงตระหนักถึงความคับคั่งของการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน ข้ามมาบรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2538 และพระราชทานชื่อว่า “โครงการสะพานพระราม 8” เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8” จากสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงทำเพื่อประชาชนของพระองค์อยู่เสมอมา..... ในวันนี้สะพานพระราม 8 ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อการจราจรระหว่างพื้นที่ฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี และช่วยลดความคับคั่งของการจราจรบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นในช่วงถนนราชดำเนินและราชดำเนินกลางให้สามารถคลี่คลายลงได้. ภาพประทับใจจากหนองบัวบากง ย้อนกลับไปในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ จ.นราธิวาส และได้ทอดพระเนตรหนองน้ำจืดในตำบลรือเสาะด้วย ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย แม้ทั้งสอง พระองค์ได้เสด็จฯ มาถึงบริเวณแหล่งน้ำในเวลาใกล้ค่ำแล้ว แต่ก็มิทรงย่อท้อที่จะไปทอดพระเนตรแหล่งน้ำด้วยพระองค์เอง โดยให้ชาวบ้านจัดหาเรือพายให้และพาทั้งสองพระองค์สำรวจหนองน้ำที่เรียกว่า หนองบัวบากง และจากการเสด็จฯ เข้าไปในพื้นที่เพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ทำให้หนองบัวบากงได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำจืดเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามของ จ.นราธิวาส และเพื่อให้คนไทยได้ชื่นชมพระบารมีและทราบถึงพระเมตตาที่พระราชทานแก่ราษฎรของพระองค์ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งหนใด ภาพการทรงงานคู่กันของทั้งสองพระองค์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในวันนั้นจึงได้ถูกนำไปจารึกลงบนธนบัตร 1,000 บาท และยังคงเป็นภาพที่ประทับอยู่ในใจชาวรือเสาะตราบนานเท่านาน. ประตูระบายน้ำบางนราตอนบนฯ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำบางนราอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชหฤทัยห่วงใยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่่ 9 ถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรสองฝั่งแม่น้ำบางนรา จึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานวางแผนศึกษาและพิจารณาวางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนราเพื่อช่วยเหลือราษฎรเกี่ยวกับการเก็บกักน้ำจืดในแม่น้ำบางนราสำหรับใช้ในการ เกษตรและการอุปโภคบริโภค ตลอดจนช่วยเหลือในด้านการระบายน้ำ บรรเทาอุทกภัยและการป้องกันน้ำเค็มไม่ให้ทำความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก โดยมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำที่ปากแม่น้ำบางนราทั้งสองทางพร้อมกับวางระบบชลประทานในเขตโครงการตามความเหมาะสม โดยเริ่มจากขุดคลองระบายน้ำจากแม่น้ำบางนราออกสู่อ่าวไทยเรียกว่า “คลองน้ำแบ่ง” และก่อสร้างคลองระบายน้ำที่ปากคลองเพื่อช่วยบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกสองฝั่งแม่น้ำบางนราก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นมีงานก่อสร้างประตูระบายน้ำบางนราตอนบนและประตูระบายน้ำบางนราตอนล่าง โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิดประตูระบายน้ำบางนราตอนบน ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส และนับจากนั้นได้มีการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กอีกหลายโครงการ ซึ่งช่วยให้พื้นที่ในเขตอำเมืองและอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส มีน้ำจืดใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดปี.