รัฐบาลมอบของขวัญปีใหม่ ประชาชนเฮ! ครม.ไฟเขียวตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ก๊าซหุงต้มตรึงไว้ที่ 423บาทต่อ15กิโลกรัม ต่ออีก 3 เดือน พร้อมตรึงค่าไฟกลุ่มเปราะบาง 17 ล้านครัวเรือน 

    
 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า  ได้มีการนำเสนอมาตรการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยจะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน  ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31มี.ค.67 โดยกระทรวงพลังงานจะหารือกับกระทรวงการคลังในการบริหารจัดการด้านราคา ใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
   

 สำหรับราคาค่าก๊าซแอลพีจีและก๊าซหุงต้ม ตรึงไว้ที่่ 423 บาทต่อ 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.1 มี.ค.67 โดยบริหารผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเคยเป็นมาตรการเดิมภัยที่เคยช่วยเหลือกลุ่มเปาะบางไปแล้ว ส่วนค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปาะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 บาทต่อหน่วย ตรึงราคาค่าไฟที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะช่วยเหลือได้ 17 ล้านราย ทั้งนี้ ต้องขออภัยกลุ่มภาคครัวเรือน ไม่สามารถยืนอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยได้ แต่รัฐบาลได้พยายามเต็มที่ ไม่ให้เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย
    
 ส่วนจะได้ตัวเลขเท่าไรขอดูตัวเลข 1 ม.ค.67 ก่อน เพราะพบว่ามีแนวโน้มราคาก๊าซในตลาดโลกเริ่มลดลง ดังนั้น ณ วันที่ 1 ม.ค. อาจต่ำกว่าราคาในวันนี้ ซึ่งตอนแรกตนเองเตรียมราคาที่กำหนดไว้ แต่หากกำหนดไปแล้วยังลดค่าไฟลงไปได้อีก ซึ่งจะไม่เป็นไปตามมติ ดังนั้นจึงขอดูราคาสถานการณ์ก๊าซ ณ วันที่ 1 ม.ค.67 ก่อน
    
 ทั้งนี้มาตรการที่ออกมาถือเป็นมาตรการระยะสั้น ภายใต้โครงสร้างเดิมที่ใช้มานานกว่า 40 ปี ซึ่งส่วนตัวคิดว่า ไม่เหมาะสม และตนเองได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารื้อระบบโครงสร้างราคาค่าไฟและน้ำมันแล้ว ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ และถือเป็นมาตรการระยะยาวที่ต้องใช้เวลา ระหว่างนี้ที่รอมาตรการระยะยาวสิ่งไหนทำได้ก็ทำก่อนภายใต้โครงสร้างแบบเดิม และทำให้ดีที่สุดทุกเรื่อง เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน
   
  นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวชี้แจงที่ไม่สามารถกำหนดที่ชัดเจนได้ ว่า การผลิตไฟฟ้ามีวัตถุดิบที่นำมาผลิตไฟฟ้า 3 อย่างหลักๆ คือ 1.ถ่านหิน ซึ่งไทยยังมีใช้อยู่ เป็นราคาที่ถูกที่สุดและมีการใช้พลังน้ำบ้างบางส่วน 2.ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งยังเป็นประเด็นใหญ่ในวันนี้ 3.พลังงานสะอาด จากพลังงานแสงแดด ลม ชีวมวลต่างๆ โดยทั้ง 3 อย่างคือวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและมีต้นทุนแตกต่างกัน ที่สำคัญมีสัญญาเดิมที่ทำไว้กับผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น เมื่อหลาย 10 ปีที่แล้ว ตนเองกำลังแก้ไขอยู่ รวมถึงแก้ไขโครงสร้างของก๊าซที่ต้องปรับรูปแบบจะดำเนินการอย่างไร ให้หลุดบ่วงราคาตลาดโลก ซึ่งถือเป็นแนวโน้มในการวางระบบและโครงสร้างใหม่ของด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากควบคุมตรงส่วนนี้ได้ ทำให้ราคาวัตถุดิบอยู่ภายใต้การควบคุมรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งสามารถทำให้ลดราคาไฟฟ้าลงมาได้โดยระบบของมันเอง ไม่ใช่แบบมติครม. แต่ต้องใช้เวลาในการศึกษารูปแบบ ผลกระทบ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องต้องรับฟังความคิดเห็น ซึ่งตนเองจะพยายามทำให้เป็นรูปเป็นร่างภายในปี 67 นี้
    
 ส่วนกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เตรียมพบหารือกับ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในปี 67 นี้ จะมีการหารือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงานระหว่างไทยกับกัมพูชาหรือไม่นั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดำเนินการต่อ เพราะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขและผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว ซึ่งส่วนตัวมองว่า จะเอาเรื่องเขตแดนกับเรื่องพลังงานมารวมกันจะหาข้อยุติได้ยาก เพราะเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องต้องใช้เวลา ซึ่งส่วนตัวมองว่า การเจรจาเรื่องเขตแดนไม่มีประเทศใดในโลกตกลงถอยหลังกันได้ง่าย แต่ไทยต้องมีความพยายามหาทางยุติลงให้ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในเรื่องนี้และตนก็เป็นกังวล เนื่องจากอยากใช้พลังงานในพื้นที่ตรงนั้น เพราะก๊าซธรรมชาติที่ไทยมีก็หมดไปทุกวัน หากไม่มีแหล่งใหม่มาเสริมหรือรองรับก็จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ดังนั้นเรื่องนี้เป็นสำคัญในการเจรจา