ก.แรงงาน แจงไม่เคยทอดทิ้งหลังลูกจ้าง 3 บริษัท ปักหลักชุมนุมเรียกร้อง ต้องการเงินชดเชยตามสิทธิของกฎหมาย ยืนยันทุกหน่วยงานในสังกัดช่วยเหลือเต็มที่
  
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  พร้อมด้วย  นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์  โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง)  นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือชี้แจง และทำความเข้าใจการช่วยเหลือกรณีที่ลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง จำกัด และบริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัด จำนวนประมาณ 250 คน นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นางสาวธนพร วิจันทร์ แกนนำกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ที่ได้นัดรวมพลเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาชุมนุมปักหลังบริเวณด้านหน้ากระทรวงแรงงานเพื่อเรียกร้องสิทธิเงินชดเชยตามกฎหมายที่พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

นายอารี กล่าวว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนทุกคน เช่นเดียวกับกรณีที่ลูกจ้างของสถานประกอบการทั้ง 3 แห่ง ที่ได้รวมตัวกันเรียกร้องเงินชดเชยสิทธิตามกฎหมายที่พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งไปแล้วนั้น 
ในเรื่องนี้ ท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ฯ จึงมอบหมายให้ผมพร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงแรงงาน และ รักษาการอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้หารือถึงการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกรณีดังกล่าว พร้อมชี้แจงและทำความเข้าใจว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัททั้ง 3 แห่ง รวมประมาณ 1,500 คน ดังนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกับนายจ้างอย่างเข้มงวด โดยรับคำร้องและออกคำสั่งให้ลูกจ้างได้รับเงินตามสิทธิตามกฎหมาย รวมเป็นเงิน 279 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ย ลูกจ้างได้รับเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวแล้ว เป็นเงินจำนวนกว่า 71 ล้านบาท และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยังได้จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อเยียวยาเพิ่มเติมอีก เป็นจำนวนเงินกว่า 53 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่รวมกว่า 124 ล้านบาท คงเหลือเงินที่ลูกจ้างยังไม่ได้รับตามสิทธิอีก จำนวน 155 ล้านบาท ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับนายจ้าง ให้ชำระเงินตามคำสั่งให้กับลูกจ้าง เพื่อนำเงินดังกล่าวมาจ่ายให้กับลูกจ้าง โดยกรมบังคับคดีมีความคืบหน้า นำทรัพย์ของนายจ้างมาขายทอดตลาด แต่เนื่องจากยังไม่มีผู้ซื้อจึงยังไม่มีเงินนำมาชำระให้ลูกจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
 
นายอารี กล่าวต่อว่า ในส่วนความช่วยเหลือของสำนักงานประกันสังคม ลูกจ้างของทั้ง 3 บริษัท ได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานแล้ว จำนวนกว่า 45.5 ล้านบาท ในส่วนความช่วยเหลือของกรมการจัดหางานได้ดำเนินการจัดหาตำแหน่งงานว่างให้กับลูกจ้างทั้ง 3 บริษัท พิจารณาในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกจ้างในการเลือกเข้าทำงาน นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังให้บริการลูกจ้างที่ประสงค์จะพัฒนาฝีมือแรงงานหรือประกอบอาชีพอิสระได้เข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานตามหลักสูตรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีเบี้ยเลี้ยงเป็นการช่วยเหลือระหว่างการฝึกอบรมอีกด้วย
 
“กระทรวงแรงงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ อะไรที่เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ตามสิทธิและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เคยทอดทิ้ง แต่อย่างไรก็ตามเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกลุ่มลูกจ้างที่มาชุมนุม และติดตามความคืบหน้าให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงานโดยเร็ว ”นายอารี กล่าวท้ายสุด

 

#แรงงาน #ชุมนุม #เงินชดเชย