สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

พระผงสุพรรณที่นับเป็นพระยอดนิยม หนึ่งใน ‘พระชุดเบญจภาคี’ สุดยอดพระเครื่องของเมืองไทย ที่เป็นที่ใฝ่ฝันและแสวงหา เป็น ‘พระเนื้อดินเผา’ ซึ่งมีส่วนผสมวัสดุมวลสารจากดินละเอียด ว่าน และเกสรต่างๆ  คนโบราณเรียกว่า  “พระเกสรสุพรรณ”  จะสังเกตได้ว่าเนื้อดินของพระผงสุพรรณเป็นเนื้อดินค่อนข้างละเอียด พระผงสุพรรณ เป็นพระขนาดเล็ก มีความกว้างประมาณ 2.1 ซม. สูงประมาณ 3.2 ซม. พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนฐานเขียงชั้นเดียว พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา พระกรทอดเรียว เน้นความละม้ายคล้ายคลึงมนุษย์ตามแบบศิลปะสกุลช่างอู่ทอง การจำแนกพิมพ์และการเรียกชื่อจึงเหมือนกับพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง คือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และ พิมพ์หน้าหนุ่ม

พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้ากลาง มีพุทธลักษณะเนื้อหาทวดทรงสัณฐาน เช่นเดียวกับ “พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่” คือ เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาศิลปะอู่ทอง องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย บนฐานเขียง แต่เค้าพระพักตร์จะดูอิ่มเอิบ สดใส คล้ายหน้ามนุษย์ที่ไม่สูงวัยมาก พระอิริยาบถวางเฉย พระหนุ (คาง) กลมมนไม่เสี้ยมเหมือนพิมพ์หน้าแก่ พระขนง (คิ้ว) เป็นขอบลึกวาดตามรูปพระเนตร แต่ปลายไม่เชิดสูงตามหางพระเนตร เช่นเดียวกับพิมพ์หน้าแก่มีแม่พิมพ์เพียงพิมพ์เดียวเช่นกัน 


เอกลักษณ์แม่พิมพ์ของพระผงสุพรรณพิมพ์หน้ากลาง

-พระพักตร์ดูอิ่มเอิบสดใสไม่เคร่งขรึมและเหี่ยวย่นเหมือนพิมพ์หน้าแก่"


- พระเนตรทั้งสองข้างไม่จมลึกเท่าพิมพ์หน้าแก่ ปลายพระเนตรทางด้านซ้ายขององค์พระตวัดเฉียงขึ้นเล็กน้อย ถ้าหากพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า รูปพระพักตร์ระหว่างพระเนตรทั้งสองข้างวางได้ระดับเท่ากันทั้งสองข้างไม่เอียงเหมือนพิมพ์หน้าแก่


- พระกรรณทั้งสองข้างจะเป็นเส้นเอียงลงตามเค้าพระพักตร์ และมีความยาวเกือบเท่ากันทั้งสองข้าง

- ในองค์ที่พิมพ์ติดชัด ปลายพระกรรณทางด้านขวาขององค์พระจะเรียวยาวคล้าย “จะงอย” ที่ปลายงอเข้าหาด้านในเล็กน้อยส่วนปลายพระกรรณทางด้านซ้ายขององค์พระจะแตกเป็น"หางแซงแซว"


-พระอุระผายกว้างและสอบเพรียวตรงพระนาภีมองดูคล้าย"หัวช้าง"


- พระหัตถ์ซ้ายขององค์พระวางที่พระเพลา (หน้าตัก)  แต่ให้สังเกตปลายพระหัตถ์จะยาวยื่นไปเกือบชนลำพระกรขวาขององค์พระซึ่งจะแตกต่างจากพิมพ์หน้าแก่และพิมพ์หน้าหนุ่ม


-ข้อพระกรด้านขวาขององค์พระเว้าลึกอย่างเห็นได้ชัด

- ในองค์ที่ติดชัด บริเวณข้างฝ่าพระหัตถ์ด้านขวาขององค์พระจะมีติ่งเกินเล็กๆ วิ่งจากโคนนิ้วพระหัตถ์ขึ้นด้านบน

"พระผงสุพรรณ” เป็นพระที่บรรจุในกรุและผ่านกาลเวลายาวนาน จึงปรากฏ ‘คราบดินกรุ’ ติดอยู่ทั่วบริเวณองค์พระและตามซอกต่างๆ เรียกว่า “นวลดิน” โดยเฉพาะพระที่ไม่ได้ผ่านการใช้จะปรากฏชัดเจน คราบนวลดินนี้จะเกาะติดแน่นแทบกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับผิวขององค์พระนับเป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่ง

ส่วนทางด้านพุทธคุณพระผงสุพรรณ กรุพระศรีรัตนมหาธาตุ มีพุทธคุณเป็นเลิศ ทั้งด้านโภคทรัพย์ แคล้วคลาด และอยู่ยงคงกระพันครับผม