วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และโฆษกประจำสำนักงาน ปปง.กล่าวว่า ตามที่ คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย  (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) ตามที่ข่าวเสนอไปแล้วนั้น 


 
นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ได้มอบหมายให้นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. และคณะพนักงานเจ้าหน้าที่  สำนักงาน ปปง. เป็นผู้แทนในการส่งมอบสำนวนให้นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน ตกเป็นของแผ่นดิน และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวนรวม 15 รายคดี ณ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ ถนนรัชดา

โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็น ของแผ่นดิน จำนวน 10 รายคดี ทรัพย์สิน 147 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 57 ล้านบาท  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้มีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้ ความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 102 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 57 ล้านบาท คือ รายคดีกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ www.bk8th.com (นายกิติพรฯ กับพวก) เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์  และความผิดฐานฟอกเงิน โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 76 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 22 ล้านบาท 

ส่วน รายคดี นายบรมฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดฐานฟอกเงิน โดยสืบเนื่องจากการสืบสวนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนของนางสาวสรารัตน์ฯ หรือแอม ไซยาไนด์ ซึ่งมีข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินกับกลุ่มบัญชีเงินฝากธนาคารที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์ www.etfm.org https://fun88thaime.com/fun88/ และhttps://www.fun881211.com เป็นต้น โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 26 รายการ (สินค้าแบรนด์เนม เครื่องประดับ นาฬิกาข้อมือ และยานพาหนะ) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท 
 
สำหรับ 2. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืน หรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 5 รายคดี ทรัพย์สิน 80 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 65 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้  2.1 รายคดี บริษัท ออสซี่ออยล์ จำกัด กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน มีพฤติการณ์หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์น้ำมันเพื่อการเกษตร  ธุรกิจแฟรนไชส์โครงการรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า คลังน้ำมันชุมชน โรงงานไฟฟ้าชุมชนโซล่าเซลล์  เป็นต้น

นอกจากนี้คณะกรรมการธุรกรรมเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการกับทรัพย์สิน 39 รายการ มูลค่าประมาณ 32 ล้านบาท และดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 400 ราย   


ขณะที่ 2.2 รายคดี ห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กรณีการโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนธุรกิจฟาร์มเห็ด และในโครงการเกษตรต่าง ๆ ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยคณะกรรมการธุรกรรมเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการกับทรัพย์สิน 24 รายการ มูลค่าประมาณ  23 ล้านบาท และดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1,368 ราย   
 
ด้าน 2.3 รายคดี นางสาวปภาสิภัคฯ กับพวก (สหกรณ์ออมทรัพย์ค่ายอิงคยุทธบริหาร จำกัด) เป็นความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิเป็นปกติธุระและความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีพฤติการณ์กระทำความผิดของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ค่ายอิงคยุทธบริหาร จำกัด ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของสหกรณ์ฯ มีการปลอมลายมือชื่อสมาชิก ในการถอนเงินและได้ไปซึ่งเงินดังกล่าว และมีการแก้ไขงบทดรองในแต่ละเดือน โดยมีการกระทำการดังกล่าวจำนวนหลายครั้ง ทำให้สหกรณ์ฯ ได้รับความเสียหาย โดยคณะกรรมการธุรกรรมเห็นชอบให้ส่งเรื่องที่พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการกับทรัพย์สิน 7 รายการ มูลค่าประมาณ 9 ล้านบาท และดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1 ราย (สหกรณ์ออมทรัพย์ค่ายอิงคยุทธบริหาร)

 

#ปปง #สหกรณ์