เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.66 ที่ ป.ป.ส.พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ส. เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 โดยมี รองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และหัวหน้าส่วนราชการสำคัญอีก ๒๖ หน่วยงานเป็นกรรมการ  นอกจากที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าในเรื่องสำคัญ ๆ คือการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และการจัดทำอนุบัญญัติรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และการดำเนินงานของคณะกรรมการต่าง ๆ ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับแล้ว มีสาระสำคัญจากการประชุมที่ควรให้ประชาชนได้รับทราบคือ

ประการแรก ที่ประชุมรับทราบการที่คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้แต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพิ่ม ๖,๑๘๕ นาย ทำให้ขณะนี้มีเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศรวม 11,332นาย ซึ่งจะมีผลให้การดำเนินงานตามมาตรการบังคับใช้กฎหมายทั้งการปราบปรามยาเสพติดและการตรวจสอบ/ยึดทรัพย์สินมีความเข้มข้นและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ประการที่สอง ที่ประชุมรับทราบการเตรียมการสถานที่รองรับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการจิตเวชทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยศูนย์คัดกรอง 9,854 แห่ง สถานพยาบาลยาเสพติด 923 แห่ง สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 140 แห่ง และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 2,258แห่ง ซึ่งจะมีผลให้การดำเนินงานตามมาตรการบำบัดรักษาทั้งในกลุ่มผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการจิตเวชทำได้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ประการที่สาม ที่ประชุมอนุมัติการตั้งด่านตรวจยานพาหนะ เพื่อสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด เพิ่มอีก 3 แห่งจากที่มีอยู่แล้ว 5 แห่ง ส่วนที่จะเพิ่มคือ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ และ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะมีผลทำให้การสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่จะลำเลียงต่อไปยังภาคใต้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ประการสุดท้าย ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ในมิติของศาสนา การพัฒนา และชุมชนพหุวัฒนธรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จะดำเนินการโดยใช้กลยุทธ์ ๔ เพิ่มคือ เพิ่มบทบาทขององค์กรทางศาสนา เพิ่มบทบาทการพัฒนาทุกด้าน เพิ่มจิตอาสาในภาคชุมชน และเพิ่มบทบาทกลไกนอกภาครัฐ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมอย่างสมัครใจของประชาชนและชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งจะมีผลให้จากนี้การดำเนินงานเพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การอำนวยการร่วมกันระหว่าง ศอ.บต. และสำนักงาน ป.ป.ส. ในนามศูนย์ประสานงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดในมิติของศาสนาและภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีทั้งความชัดเจนและความเข้มข้นขึ้นและเชื่อว่าจะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ กล่าวว่าสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยภาคีทั้งหมดมีความมุ่งมั่นตั้งใจและดำเนินงานทุกวิถีทางในการที่จะลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี ตามนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ตามการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด นอกจากต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ยังต้องอาศัยความมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยเฉพาะขณะนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า “หมู่บ้าน/ชุมชนเป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติด” ดังนั้น บทบาทของหมู่บ้าน/ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง จึงขอเชิญชวนให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชนจับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันลุกขึ้นมาแสดงพลังในการปฏิเสธไม่ต้องการให้มีผู้ค้ายาเสพติดอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคีทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร พร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินการอย่างเต็มที่ เชื่อว่าการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดภายใน ๑ ปี ตามนโยบายของรัฐบาลจะเกิดผลได้อย่างแน่นอน