ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้ปราบปรามกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดทุกรูปแบบซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก โดย ชุดลาดตระเวนออนไลน์ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. พร้อมด้วยชุด PCT5 ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากผ่าน เพจ สืบนครบาล IDMB ให้ช่วยทำการสืบสวนติดตามจับกุมตัว นางสาวกาญจนาพร หรือกิ๊ป ผู้ต้องหา ซึ่งมีพฤติการณ์ หลอกชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนซื้อชุดตรวจโควิด , หลอกขายตั๋วภาพยนตร์ , หลอกขายโค้ตป๊อปคอร์น โดยเฉพาะในการหลอกร่วมลงทุนซื้อชุดตรวจโควิด มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 8,346,974 (แปดล้านสามแสนสี่หมื่นหกพันเก้าร้อยเจ็ดสิบสี่บาท) 

 ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 13.50 น. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง , พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี , พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก สส.บช.น. , พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.สมพงษ์ เกตุระติ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. , ร.ต.ต.ทรงศักดิ์ เจียมสกุล รอง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 5 กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. และชุด PCT5  ได้ร่วมกันสืบสวนติดตามจับกุม 
           

นางสาวกาญจนาพร หรือกิ๊ป  ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ 709/2566 ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2566 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์    ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนและเป็นผู้เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ ”        โดยสามารถจับกุมตัวได้ที่ บริเวณลานจอดรถคอนโด ซอยจรัญสนิทวงศ์ 4 แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

   ในชั้นจับกุม นางสาวกาญจนาพร หรือกิ๊ป ให้การภาคเสธ ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการข้อหาฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริตนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ แต่ยอมรับว่า เมื่อช่วงประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้มีบุคคลซึ่งรู้จักกับผ่านทางกลุ่มเฟซบุ๊กซื้อขายบัญชีธนาคาร ชื่อกลุ่ม “ ซื้อ/ขายบัญชีธนาคาร ” ชื่อเล่นว่า “ ส้ม ” ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กว่า “ สายป่าน สายหยุด ” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อบัญชีมาใช้ชื่อบัญชี “ เมื่อมีนัด สายเสมอ ” ทราบชื่อ-สกุลจริงภายหลัง คือ น.ส.อลิษา อายุ 32 ปี ได้มีการโพสต์ในเฟซบุ๊กกลุ่มซื้อบัญชีธนาคารกลุ่มดังกล่าว ว่า “ ขอคนพร้อมทำ ทหารไทย 3 เล่ม กทม. ลาดพร้าว บางกะปิ ” เมื่อตนเห็นจึงเกิดความสนใจ เนื่องจากช่วงเวลานั้นเป็นช่วงสถานการณ์โควิด ตนไม่เงินใช้จ่าย จึงได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวทักไปหา น.ส.ส้ม ว่าตนสนใจที่จะเปิดบัญชีธนาคารให้ น.ส.ส้ม เสนอค่าจ้างในการเปิดบัญชีให้ 1,500 บาท เมื่อตกลงกันเรียบร้อย ตนได้ถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชนส่งให้ น.ส.ส้ม เพื่อตรวจสอบประวัติคดี เมื่อตรวจสอบประวัติคดีผ่าน น.ส.ส้ม ได้ขอเบอร์โทรศัพท์ตนเพื่อไว้ติดต่อและนัดหมายสถานที่เพื่อไปทำการเปิดบัญชีที่ธนาคาร โดยนัดหมายกับเปิดบัญชีที่ ธนาคารทหารไทย สาขาห้างเซ็นทรัลบางนา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565

 นอกจากนี้ บางครั้ง น.ส.ส้ม ยังจ้างให้ตนทำหน้าที่โทรศัพท์หาธนาคารต่างๆซึ่งเป็นธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่อเช็กสถานะบัญชีของบุคคลที่ น.ส.ส้ม จ้างให้เปิดบัญชีเพื่อทราบว่าบัญชีธนาคารที่จ้างเปิดแต่ละบัญชีนั้นมีความเคลื่อนไหวทางบัญชีหรือไม่ อย่างไร โดยได้ค่าจ่างครั้งละ 500 บาท  ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ส.ค.65 ซึ่งเป็นวันที่ตนถูกจับตามหมายจับในความผิดฐาน “ โดยทุจริต นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ” ท้องที่ สน.ทุ่งสองห้อง ตนได้ทักเฟซบุ๊กไปหา น.ส.ส้ม เพื่อแจ้งว่าตนถูกจับ ปรากฏ น.ส.ส้ม ได้พิมพ์ข้อความตอบกลับมาว่า “ ซื้อเฟซบุ๊กต่อมา ไม่ทราบเรื่องว่าผู้ใช้คนเก่าใช้ทำอะไรมา ” และอีกประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ เฟซบุ๊กดังกล่าวที่ น.ส.ส้ม เคยใช้คุยกับตนก็ทำการปิดกั้นเฟซบุ๊กตน ทำให้ไม่สามารถติดต่อ น.ส.ส้ม ได้อีกเลย จนมาถูกจับกุมในครั้งนี้ 
      

 ที่ผ่านมาตนเคยรับจ้างเปิดบัญชีธนาคารมาแล้วประมาณ 4 บัญชี ประกอบด้วย บัญชีธนาคารไทยพาณชย์  บัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ,  บัญชีธนาคารธนชาตทหารไทย และบัญชีธนาคารกสิกรไทย ทุกบัญชีไม่สามารถจำเลขที่บัญชีธนาคารได้ 
      

 จากการตรวจสอบประวัติคดีในฐานข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่านางสาวกาญจนาพร หรือกิ๊ป  เคยมีประวัติถูกดำเนินคดีในฐานข้อมูล จำนวน 3 คดี ประกอบด้วย 
         
        1) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงดอนเมือง ที่ จ.135/2565 ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นผู้อื่น , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ” สถานะถูกจับกุม
        2) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 345/2566 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นผู้อื่น , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ” สถานะถูกจับกุม
        3) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ 709/2566 ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2566 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ ”            
        

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำตัว นางสาวกาญจนาพร หรือกิ๊ป  ผู้ต้องหาตามหมายจับ นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ปทุมธานีเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวแจ้งเตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนว่าในสังคมปัจจุบัน มิจฉาชีพมีเล่เหลี่ยมกลโกงมากมายหลายรูปแบบ ขอให้ประชาชนได้โปรดใช้สติในการใช้ชีวิตในสังคม อย่างหลงเชื่อกลโกงต่างๆ ของมิจฉาชีพซึ่งมีอยู่มากมาย โทษกรณีการเปิดบัญชีม้า ณ ปัจจุบัน มีอัตราโทษหนัก คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (บัญชีม้า) นอกจากนี้ ผู้เป็นธุระจัดหา จ้างผู้อื่นมาเปิดบัญชีม้าก็มีโทษหนักเช่นเดียวกัน คือ จำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (คนจัดหาบัญชีม้า) หากไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าบุคคลที่เข้ามาเสนอผลประโยชน์ นั้นจะเป็นมิจฉาชีพ หรือไม่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด มายังเพจ “สืบนครบาล IDMB” ได้ตลอด 24 ชม. แม้จะเป็นคดีที่มีความเสียหายไม่มาก แต่หากเป็นคดีที่ประชาชนเดือดร้อน เราทำทันที ตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ