ส่งออก พ.ย.ขยายตัว 4.9% ทั้งปีติดลบไม่เกิน 1.5% ขณะที่ 11 เดือนขาดดุลการค้า 6,165 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือน พ.ย. ขยายตัว 4.9% มูลค่า 23,479.7 ล้าน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.0 % ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,879.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว10.1% ดุลการค้า ขาดดุล 2,399.4 ล้านดอลลาร์ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 261,770.3 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 1.5 % ส่วน การนำเข้า มีมูลค่า 267,935.5 ล้านดอลลาร์ติดลบ 3.8% ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,165.3 ล้านดอลลาร์

โดยการส่งออกเดือนพ.ย.ที่ขยายตัวต่อเนื่องมาจากตลาดส่งออกสำคัญของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากภาวะเงินเฟ้อสูงเริ่มชะลอลงและมีแนวโน้มกลับสู่ระดับเป้าหมายในปีหน้า โดยหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการจบวงรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกรายสินค้าในภาพรวมขยายตัวทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวมากกว่าหมวดอื่นๆ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่องตามวัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และมีปัจจัยบวกจากการจับจ่ายใช้สอยก่อนเข้าสู่เทศกาลสำคัญในช่วงท้ายปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายประเทศเร่งนำเข้าสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.9 % ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 7.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว1.7 % ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 67.9 % ขยายตัวต่อเนื่อง 5 ยางพารา ขยายตัว14.5 % อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 2.5% กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ลิเบีย แคนาดา อิสราเอล และอาร์เจนตินา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 3.3 ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นต้น ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 3.4 % ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 10.3 % ลับมาขยายตัวกลับมาขยายตัว ในรอบ 14 เดือน เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 19.4 % ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน เป็นต้น โดยการส่งออกไปตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาดขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกไปบางตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางภาวการณ์ชะลอตัวของภาค การผลิตโลก โดยตลาดหลัก ขยายตัว 4.7% ตลาดรอง ขยายตัว 4.1%

ทั้งนี้การส่งออกปี 2566 คาดว่าจะติดลบไม่เกิน 1.5% ซึ่งภาพรวม 11 เดือน ไทยส่งออกติดลบ 1.5 % หากการส่งออกไทยในดือน ธ.ค.มีมูลค่า23,000 ล้านดอลลาร์ทั้งปีก็จะติดลบตามที่คาดไว้หรือจะติดลบน้อยลง ส่วนการส่งออกในปี 67 คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2 % โดยปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา

 

#ส่งออก #พาณิชย์ #น้ำมัน #ดอกเบี้ย