ผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปีกับปี 2566 ที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ ทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์เศรษฐกิจมีมุมมองวิเคราะห์ที่น่าสนใจ  

ทั้งนี้ได้มีการประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 2566 โดย “กระทรวงการคลัง” คาดว่า จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 โดยภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 27.7 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 148.3 ต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 225.5 จากปี 2565 และการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.8 รวมถึงแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่คลี่คลายลง  

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.8  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -3.4 ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะทรงตัวในระดับเดียวกับปีก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา 

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 ถึง 2.0) เนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานได้คลี่คลายลงตามลำดับ ประกอบกับมาตรการบรรเทาของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ทำให้เงินเฟ้อกลับเข้ามาสู่กรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 1 - 3 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP 

ส่วนเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อบริบทสำคัญในปี 2566 คือ เหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่ง “ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด มองว่าสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนส่งผลให้การลงทุนมีความเสี่ยงเพิ่มสูงมากขึ้น เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อการค้าในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าสำคัญหลายประเภท โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งรัสเซียส่งออกน้ำมันราว 7% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก ดังนั้น การที่รัสเซียถูกคว่ำบาตร จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ยังไม่มีการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียก็ตาม 

สำหรับประเทศไทยส่งออกสินค้าไปรัสเซียเพียงราว 0.6% และส่งออกไปยูเครนราว 0.1% ของยอดส่งออกทั้งหมดในปี 2564 โดยสินค้าส่งออกสำคัญไปรัสเซีย ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ยาง  ดังนั้น การส่งออกไปรัสเซียจึงส่งผลกระทบต่อยอดส่งออกโดยรวมของไทยเพียงเล็กน้อย  อย่างไรก็ดี ไทยอาจได้รับผลกระทบในทางอ้อมเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจช้าลง และประเทศในยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกราว 8% ของยอดส่งออกของไทยทั้งหมดอาจได้รับผลกระทบรุนแรงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน 

ภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบอยู่บ้าง เนื่องจากนักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญ โดยในปี 2562 ชาวรัสเซียเกือบ 1.5 ล้านคนเดินทางเข้ามาในไทย คิดเป็น 3.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียราว 31,000 คนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย  อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จึงอาจไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก แต่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า 

ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” นั้น “นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า  เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกสูง นอกจากนั้น จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลลบกับอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังประเมินว่าเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงในปี 2567 ถึงแม้ว่าตลาดการเงินมองว่ามีโอกาสที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 2.5% จาก 3.0% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และถึงแม้ว่าการส่งออกสินค้าที่จะหดตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ที่  -1.3%   

นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกันและเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธปท. ได้สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วที่ 2.5%  

ในบริบทที่การค้าโลกมีนโยบายกีดกันการค้ายังเข้มข้นอยู่ และอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากขึ้น จะก่อให้เกิดโอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคได้ และการที่ประเทศไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้เรามีเครื่องจักรใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ 

ปี 2566 มีเรื่องราวที่ส่งผลประทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

แต่สุดท้ายเราก็สามารถผ่านพ้นมันมาได้!!!