ยังยกให้เป็นอากาศยานยอดฮิต ติดอันดับแถวหน้าของการให้ความสนใจจากชาวโลกต่อไปอย่างต่อเนื่อง หลังถูกยกให้ยืนเด่นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สำหรับ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ “โดรน” (Drone : Dynamic Remotely Operated Navigation. Equipment)

ทั้งนี้ ก็เพราะ “โดรน” ถูกนำไปใช้ในภารกิจต่างๆ ตั้งแต่กิจการของพลเรือน ไปจนถึงปฏิบัติการทางทหาร โดยกิจการของพลเรือนนั้น ก็ใช้โดรนในภารกิจสารพัด ไล่ไปตั้งแต่

การใช้ถ่ายภาพ บันทึกภาพ ทั้งในแบบภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว เช่น การบันทึกวิดีทัศน์ หรือวิดีโอ เป็นต้น และการใช้เพื่อการลำเลียงขนส่งสิ่งของต่างๆ รวมถึงการกู้ภัย ในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตราย หรือพื้นที่ที่เดินทางด้วยความยากลำบาก หรือการจราจรติดขัด

นอกจากนี้ ก็ยังใช้เพื่อการคมนาคม โดยสารของผู้คน อย่างที่เรียกว่า “โดรนแท็กซี่” ซึ่งกิจการนี้ได้รับการจับตาเป็นอย่างมาก เพราะจะมีการประชันกันอย่างร้อนแรง ระหว่างบริษัทผู้ผลิตโดรน ทั้งในฟากเอเชีย ที่มีจีนแผ่นดินใหญ่ ยืนอยู่แถวหน้า เช่น โดรนของอีหั่ง เป็นต้น กับเหล่าบริษัทผู้ผลิตโดรนของฟากยุโรปและสหรัฐฯ

ส่วนโดรนที่ใช้ในปฏิบัติการทางทหาร ก็ประชันขันแข่งอย่างร้อนแรงไม่แพ้กัน ทั้งของฟากสหรัฐฯ และยุโรป และฝั่งของเอเชีย ที่มีผู้ผลิตระดับชั้นนำอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นของจีน หรือแม้กระทั่งอิหร่าน ก็เป็นที่จับตาของวงการโดรนทางการทหารด้วยเช่นกัน

โดยในปี 2024 (พ.ศ. 2567) หรือปีนักษัตรมะโรง งูใหญ่ ที่แม้เพิ่งย่างเข้าเมื่อช่วงไม่กี่เพลาที่ผ่านมานั้น บรรดานักวิเคราะห์ก็แสดงทรรศนะว่า “โดรน” ยังคงเป็นอากาศยานยอดนิยมที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงต่อไปอีกเช่นเคย พร้อมกับคาดการณ์กันด้วยว่า ดีไม่ดีอาจจะลากยาวไปถึงปี 2031 (พ.ศ. 2574) หรืออีก7 ปีนับจากนี้เป็นอย่างน้อย

นอกจากนี้แล้ว “โดรน” ก็จะยังได้รับการพัฒนาให้มีความล้ำสมัยทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็น “โดรน” ที่ใช้ประโยชน์ของพลเรือน เพื่อการช่วยเหลือ สร้างสรรค์ เป็นประการต่างๆ และ “โดรน” ที่ใช้ปฏิบัติภารกิจทางทหาร ในฐานะอาวุธเข่นฆ่าประหัตถ์ประหารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ล้วนต้องถูกพัฒนาให้มีเทคโนโลยีอันสุดล้ำไปด้วยกันทั้งสิ้นนับจากนี้

ทั้งนี้ แรงจูงใจที่จะทำให้เกิดการพัฒนาโดรนให้สุดล้ำได้ต่อไปนั้น ก็เป็น “ปัจจัยทางการตลาด” ของโดรน ซึ่งมีการซื้อ การขาย กันอย่างคึกคักรวมกันแล้วหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของเหล่าบรรดาบริษัทผู้ผลิตโดรนออกมาจำหน่าย นั่นเอง ถือเป็นสาเหตุแรงจูงใจอันหอมหวาน

ตามการประเมินของบรรดานักวิเคราะห์ ก็ระบุว่า เฉพาะในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เหล่าบริษัทผู้ผลิตโดรนมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2022 (พ.ศ. 2565) ที่ผ่านมานั้น ตลาดโดรนทำรายได้จนมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อถึงปี 2030 (พ.ศ. 2573) มูลค่าการซื้อขายในตลาดโดรน ก็จะพุ่งทะยานขึ้นไปอยู่ที่กว่า 5.5หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสถานการณ์แนวโน้มของตลาดโดรนในอนาคตนั้น บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะไปในทิศทางเดียวตรงกันว่า พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอนในส่วนของตลาดการซื้อขายโดรนนี้ ไม่ว่าจะเป็นโดรนที่ใช้ในกิจการพลเรือน และโดรนที่ใช้ในภารกิจทางการทหาร

สำหรับ โดรนที่ถูกคาดหมายและจับตามองในปี 2024 (พ.ศ. 2567) นี้ ก็จะเป็นโดรนที่ได้รับการพัฒนาในกิจการต่างๆ หลายประเภทด้วยกัน ได้แก่

“โดรนเพื่อการขนส่งโดยสาร”

โดยเหล่าบริษัทผู้ผลิตโดรน จะประชันแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อการขนส่งโดยสาร หรือที่หลายคนเรียกว่า โดรนแท็กซี่ ในปีนี้กันอย่างร้อนแรง ซึ่งน่าจะร้อนแรงกว่าปีที่ผ่านๆ มา ทั้งในฟากของจีน ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนแท็กซี่ จนล้ำหน้า และมีชาติอื่นๆ สนใจที่จะเป็นลูกค้าแล้ว นอกจากนี้ ก็ยังมีผู้ผลิตโดรนของทางฝั่งยุโรป อย่างเยอรมนี เป็นต้น หรือทางฟากสหรัฐฯ ไม่เว้นกระทั่งในออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ก็มีพัฒนาการไปไกลแล้วเช่นกัน ส่วนชาติที่จะมาเป็นลูกค้าสำคัญๆ ก็จะเป็นทางภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นอาทิ

“โดรนเพื่อการเกษตรกรรม”

โดยที่ผ่านมา โดรนถูกนำมาใช้ทำประโยชน์ด้านการเกษตรเป็นประการต่างๆ เช่น การหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ หรือแม้แต่การใช้เพื่อพ่นยาปราบศัตรูพืช

ส่วนในปี 2024 นี้ โดรนเพื่อการเกษตรกรรม ได้รับการคาดหมายว่า บรรดาบริษัทต่างๆ จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้โดรนมีศักยภาพการทำเกษตรแบบแม่นยำสูงและอย่างยั่งยืน (Precision Agriculture and Sustainability) ได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการฟาร์มเกษตรอย่างมีความเหมาะสม การจัดการเชิงพื้นที่ การจัดการด้านข้อมูลภายในฟาร์ม รวมไปจนถึงการเตรียมการเพื่อตอบสนองกับความแปรปรวนของโลกต่อฟาร์มเกษตร ที่เกษตรกรในแต่ละพื้นที่จะต้องเผชิญกันได้อีกด้วย

“โดรนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการซ่อมบำรุงเชิงคาดการณ์”

โดยโดรนประเภทนี้ จะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้โดรนมีศักยภาพในการคาดการณ์เกี่ยวกับการก่อสร้าง ทั้งในด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ ตลอดจนการซ่อมการบำรุง ซึ่งโดรนจะประมวลผลข้อมูลต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ

“โดรนเพื่อสนับสนุนการกู้ภัยในเหตุฉุกเฉิน”

โดยโดรนประเภทนี้ จะได้รับการพัฒนาเพื่อให้มีศักยภาพสำหรับการรับมือในเหตุฉุกเฉิน หรือสาธารณภัยต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลำเลียงขนส่งอุปกรณ์เพื่อการกู้ภัย หรือแม้กระทั่งอาจลำเลี้ยงผู้ประสบเหตุจากในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งล่อแหลมที่จะเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์ รวมถึงการข้ามพ้นอุปสรรคเรื่องการจราจรที่ติดขัด หากเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นบนท้องถนนในชั่วโมงเร่งด่วน

ทั้งนี้ บรรดาโดรนเหล่านี้ ก็จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ประมวลข้อมูลที่แม่นยำ บรรทุกลำเลียงได้มากขึ้น และทะยานบินได้ไกลมากขึ้นยิ่งกว่าเก่า