กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ 5 หน่วยงาน พัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา พร้อมจัดรถวินิจฉัยและรักษาภาวะวิกฤติทางหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ Mobile Stroke Unit (MSU) เพิ่มการเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐาน ลดความพิการและความสูญเสียจากโรคหลอดเลือดสมอง แก่ประชาชน

ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเ ฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุลรักษาราชการแทนเลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจกรรมโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมลงนาม

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลรายงานสถิติสาธารณสุข ปี 2566 พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ซึ่งโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการเสียชีวิตและทุพพลภาพ โดยมีกระบวนการรักษาที่สำคัญคือ การเข้าถึงบริการทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track) ทันเวลา เพื่อให้ได้รับการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำเร็วที่สุด ภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และรักษาโดยการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง (Mechanical Thrombectomy) รวมถึงได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานที่หน่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับ 5 หน่วยงาน เร่งพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการรักษาเชิงรุก โดยการจัดบริการรถวินิจฉัยและรักษาภาวะวิกฤติทางหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit - MSU) สามารถตรวจวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) และรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ภายในรถ รวมถึงมีการจัดสรรเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ให้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาลแม่ข่าย

นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า โครงการนี้ จะเริ่มนำร่องที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ให้บริการประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์นายกกิตติมศักดิ์ ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา พร้อมทั้งพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ เป็นโรงพยาบาลเพื่อประชาชนที่คำนึงถึงคุณภาพและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยทั้ง 6 หน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการ ข้อมูลด้านวิชาการ การบริหารจัดการ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ การจัดระบบส่งต่อฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการรักษาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด

“หากสังคมมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่สามารถฟื้นฟูสภาพให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้ ผู้ป่วยเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้พิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ครอบครัวและสังคมต้องให้การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงสถานะทางการเงินของครอบครัวรวมถึงงบประมาณจำนวนมาก ที่ต้องนำมาใช้ในการดูแล รักษา ทั้งค่ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาทันท่วงที โอกาสเกิดความพิการก็จะลดลง รวมทั้งต้องมีการป้องกัน โดยการลด ละเลิก พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค ทั้งอาหาร การออกกำลังกาย รวมไปถึงการปรับตัวในการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม” นายแพทย์ชลน่านกล่าว