เมื่อวันที่ 9 ม.ค.67 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน โพสต์เฟสต์บุ๊ก "Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์" ระบุว่า “จตุพร” ปักธงเพื่อไทยวืดกู้เงินแจกดิจิทัลหมื่นบาท เชื่อกฤษฎีกาส่งคำตอบบอกปัดอย่างสุภาพ ห้ามกู้เงินไม่ชอบกฎหมาย คาด สว.เปิดซักฟอกมุ่งทวงหนี้ตามสัญญาดีล ลั่นปฏิบัติการนี้น่าจับตาใกล้ชิด

เมื่อ 8 ม.ค. 2567 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า สว.ประกาศอภิปรายทั่วไปเท่ากับเป็นปฏิบัติการทวงหนี้ดีลจากนักโทษทักษิณ ชินวัตร และการโหวตเปิดทางโล่งให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ดังนั้น ปฎิบัติการซักฟอกจึงย้ำเตือนถึงคำสัญญาที่ได้ดีลกันไว้

นายจตุพร กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปของ สว.ว่า เป็นปฏิบัติการเบื้องต้นก่อนพ้นวาระวันที่ 11 พ.ค. 67 สิ่งนี้แสดงถึงร่องรอยความผิดปกติของดีลกลับบ้านของนักโทษทักษิณ แล้วยังไม่ติดคุกสักวัน อีกทั้ง สว. 152 เสียงโหวตเลือกนายเศรษฐา เป็นนายกฯ พร้อมได้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ดังนั้น สว.ต้องการอภิปรายฯ จึงสะท้อนถึงการเร่งเตือนสัญญาดีลที่จะมาถึงในเร็ววันช่วง พ.ค.นี้

"การดีลกลับบ้านโดยไม่ติดคุกเป็นการแลกกับการเสียความรู้สึกของคนมากมาย และนำพาสู่ความเสียหายทั้งปวง ดังนั้นสัญญาที่มีขึ้นจะถูกลากให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ หรือเป็นการเร่งให้รีบปฏิบัติตามสัญญาที่ดีลกันไว้ และถ้าเบี้ยวสัญญาแล้วจะว่ากันอย่างไร ด้วยเหตุนี้ สว.จึงทำตัวเป็นพวกทวงหนี้ (ทางการเมือง)"

ส่วนนายเศรษฐา บอกว่า คณะกรรมการกฤษฎีส่งความเห็นการกู้เงิน 5 แสนล้านมาแจกประชาชนคนละ 1 หมื่นบาทตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นายจตุพร กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งคำตอบมาปฏิเสธอย่างสุภาพ โดยมีความเห็นว่ารัฐบาลกู้เงินได้แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ม. 53 และ ม.57 ซึ่งเท่ากับบอกรัฐบาลจะทำตามใจตัวเองต้องการจะทำไม่ได้ 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ส่งให่้กระทรวงการคลังจึงสอดคล้องกับความเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ให้การสนับสนุนกู้เงินมาแจกโครงการดิจิทัล 5 แสนล้านบาท แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

"คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีการแสดงว่ารัฐบาลไม่สามารถกู้เงินมาแจกตามโครงการดิจิทัลได้เลย เพราะการให้ทำตามกฎหมาย แต่กฎหมายกำหนดข้อห้ามเอาไว้ และการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อไทยยังเข้าข้อห้ามของกฎหมายทุกข้อด้วย ดังนั้น คำตอบให้กู้เงินทำได้ตามกฎหมาย จึงยากที่จะกู้เงินได้ หรือเป็นการบอกอย่างสุภาพว่า ไม่ให้กู้นั่นเอง"

นายจตุพร กล่าวว่า กฎหมายให้รัฐบาลกู้เงินได้ในสถานการณ์ประเทศวิกฤตและเร่งด่วน เมื่อนายกฯ ตระเวณชวนนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในไทยโดยยืนยันเป็นประเทศไม่มีวิกฤต ดังนั้น การจะกู้เงินมาแจกในช่วงบ้านเมืองวิกฤตจึงต้องแลกด้วยไม่มีนักลงทุนมาลงทุนในไทยที่เป็นประเทศวิกฤตด้วย

พร้อมทั้งระบุว่า การพยายามทั้งหมดของรัฐบาลเพื่อไทยนั้น เป็นสิ่งผิดปกติ เพราะการเร่งอธิบายจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกามาพูดให้ชัดในที่ประชุม ครม. แต่รัฐบาลและ รมช.คลังนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กลับพูดดักไว้ล่วงหน้าว่า ทำได้แล้ว ดังนั้น ถ้าทำไม่ได้ จึงเป็นปัญหาในอนาคต

นายจตุพร กล่าวว่า ตามปกติแล้วรัฐบาลจะกู้เงินไม่ไปถามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีแบบประกาศทางสาธารณะเช่นนี้ โดยจะเรียกมาขอความเห็นลับๆ หรือออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อให้มีผลสมบูรณ์โดยเร็ว
"ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความมั่นใจในโครงการแจกเงินดิจิทัล ถ้ามั่นใจต้องออกเป็น พ.ร.ก.ไปแล้ว ดังนั้นคนเป็นนักบริหาร ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนจะกู้เงินโดยออก พ.ร.บ.ไม่ได้ สิ่งสำคัญถ้ารัฐบาลมั่นใจว่าทำได้ แล้วทำไมไม่ทำเลย จะออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.ก็ตาม แต่จะถูกยื่นคำร้องให้ศาล รธน.ตรวจสอบอยู่ดี”

นายจตุพร ตำหนิว่า นายกฯ มักนิยมบริหารประเทศผ่านการโพสต์ข้อความ โดยล่าสุดต่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งเป็นการบริหารงานที่ไม่เหมาะสม และไม่ใช่วิธีการบริหารราชการของคนเป็นนายกฯ

"ปัญหามีว่าอยากจะปลดผู้ว่า ธปท.ใช่หรือไม่ ก็ปลดเลยสิ แต่มันมีที่ไหนที่การบริหารราชการด้วยข้อความผ่านเอ็กซ์ ที่ไม่เห็นด้วยกับหน่วยงานราชการ แทนที่นายกฯ จะใช้ความเป็นผู้นำที่มีวุฒิภาวะด้วยการแลกเปลี่ยนเหตุผลที่ก่อเกิดปัญหา ซึ่งธนาคารชาติก็จะมีเหตุผลให้ในมิติใด สิ่งสำคัญที่สุดวิธีการทวิตข้อความผ่านเอ็กซ์ยังไม่เข็ดกับการแสดงความเห็นกรณีอิสราเอลกับฮามาสอีกเหรอ"

ประเทศไทยต้องมาก่อน

 

#จตุพรพรหมพันธุ์ #เงินดิจิทัล #ประเทศไทยต้องมาก่อน #คณะหลอมรวมประชาชน