วันที่ 11 ม.ค.67 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า  เงื่อนไขมาตรา 53  สื่อใหญ่

คุณสุทธิชัย หยุ่น วิจารณ์ว่า   [‘ภูมิธรรม’ บอกว่าใครคิดว่าเศรษฐกิจไม่วิกฤต ให้ไปถามคนในตลาด  ทำให้คิดถึงที่นายกฯบอกว่า ไปไหนก็มีคนถือป้าย ‘รอเงินหมื่นจากรัฐบาล’  แต่กฤษฎีกาบอกว่าถ้ารัฐบาลจะเดินหน้ากู้เงิน 5 แสนล้านมาแจก ต้องมี ‘ข้อมูลเป็นที่ประจักษ์’ เพราะต้องนำเสนอแบบวิทยาศาสตร์ว่า ‘วิกฤต’  รัฐบาลกำลังติดกับดักที่สร้างขึ้นมาเอง เพราะตอนหาเสียงเรื่องนี้ ยังไม่ได้คิดว่าจะต้องทำจริง ๆ… ทำไปแก้ปัญหาไป ทีละเปลาะ ก็เจอ ‘วิกฤตความน่าเชื่อถือ’ อย่างที่เห็นอยู่]

ผมวิเคราะห์ว่า กฎหมายวินัยการเงินฯ มาตรา 53 อนุญาตให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติกู้เงินได้  เฉพาะถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ

คำว่า 'วิกฤต' ในที่นี้ น่าจะหมายถึงวิกฤตเศรษฐกิจ  ส่วน 'วิกฤตความน่าเชื่อถือ' หรือ'วิกฤตศรัทธา' Crisis of Confidence ในตัวรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเอาเอง

มีข่าวว่า น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ งบประมาณปี 2567 ระบุว่า  ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย จะได้พูดคุยกับสภาพัฒน์ฯ, สำนักงบฯ, คลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย  โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และวิกฤตเศรษฐกิจ หน้าตาควรต้องเป็นแบบไหน อย่างไร เพื่อค้นหาคำนิยามตามหลักสากล

ผมขอให้ข้อมูลว่า ไม่มีนิยามตายตัวตามกฎหมาย

IMF ก็ไม่มีนิยามวิกฤติเศรษฐกิจ แต่โดยปกติ จะต้องพิจารณาข้อมูลเชิงประจักษ์หลายแง่มุมรวมกัน ต่อไปนี้

1 ตัวเลขจีดีพีลดต่ำลงมาก อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลดต่ำถึงขั้นติดลบ

2 การใช้จ่ายของประชาชนเพื่ออุปโภคบริโภคลดลงมาก

3 การลงทุนของธุรกิจเอกชนลดลงมาก

4 ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้นมาก ธุรกิจเลิกจ่างงานมากขึ้น

5 เกิดปัญหาหนี้ท่วม การชำระคืนหนี้ติดขัดอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ การที่จีดีพีขยายตัวต่ำ ไม่ว่าในตัวเอง หรือต่ำกว่าศักยภาพ โดยปัจจัยนี้ ยังไม่ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ  แต่เกิดจากปัญหาโครงสร้าง ที่รัฐบาลจะต้องวางแผนแก้ไขระยะยาว ให้ตรงจุด  ไม่ว่าด้านการศึกษา ทักษะแรงงาน การผูกขาด การปรามคอร์รัปชัน ฯลฯ  มากกว่าการแจกเงินเพื่อกินเพิ่อใช้

ส่วนการสำรวจความเห็น หรือความรู้สึก ไม่ว่าจะภาคธุรกิจ หรือภาคครัวเรือนนั้น ไม่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์  แต่ทั้งนี้ การกระตุ้นอุปโภคบริโภค ที่ทำให้รัฐบาลต้องเป็นหนี้มากขึ้น โดยไม่ได้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน นั้น 

ต้องระวังว่า จะกลับเป็นตัวก่อให้เกิดวิกฤตเสียเอง

 

 

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล