“เครื่องราง” นั้น มีศัพท์แสงเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Charms’ ซึ่งโลกยุคโบราณและซีกโลกตะวันตกก็มี Charms ใช้กันแพร่หลาย ถ้ายกตัวอย่างเครื่องรางดังๆ ของโลก ท่านผู้อ่านสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ก็คงจะรู้จักและคุ้นเคยไม่แพ้เครื่องรางบ้านเรา เช่น อียิปต์ ก็จะมี ‘แมลง Scarab Beetle’ หน้าตาเหมือนแมลงกว่างทางบ้านเรา แต่ทำจากหินสี มีปีกงดงาม นิยมห้อยคล้องคอใช้พกประจำตัว และเฝ้าสุสานของฟาโรห์ โดยมีความเชื่อว่า เป็นเครื่องรางป้องกันอันตราย และนำมาซึ่งชีวิตใหม่หรือการเกิดใหม่ เพราะแมลงประเภท Beetle จะวางไข่จำนวนมากบนมูลสัตว์ ซึ่งชาวอียิปต์เชื่อว่าเป็นบ่อเกิดของชีวิตใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด เครื่องรางอียิปต์ แมลง Scarab Beetle หยก นอกจากนี้ยังมีวัตถุประเภท "หินสี" ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาแต่ยุคโบราณ เช่น ‘หยก’ หรือ ‘Jade’ ซึ่งเป็นหินเนื้อละเอียด โดยชาวจีนเชื่อว่าเป็นเครื่องรางคุ้มครองเจ้าของ หากมีอันตรายเกิดขึ้นหยกจะรับเคราะห์เอาไป โดยหยกจะมีหลายเกรดหลายระดับ ขึ้นอยู่กับอายุของหินเป็นสำคัญ ส่วนต่างประเทศก็มักนิยม ‘หินสี’ นำมาเป็นเครื่องรางและเครื่องประดับอาจเนื่องจากความงดงามในตัวเองด้วย อันได้แก่ Diamond หรือ เพชร, Emerald มรกต, Moonstone หรือ หินพระจันทร์ ที่บ้านเราเรียก มุกดาหาร, Pearl ไข่มุก, Ruby ทับทิม, Blue Sapphire ไพลิน, Opal โอปอล ซึ่งมีสีขาวเรืองแสงคล้ายสีรุ้ง, Garnet กาเนท โกเมน สีแดงเข้ม, Amethyst อาเมทิสต์ เป็นหินสีม่วง, Topaz โทปาซ อัญมณีสีใส ส่วนใหญ่เป็นสีฟ้า แต่ถ้าเป็นสีเหลืองบ้านเราเรียก บุษราคัม หรือ บุษน้ำทอง แต่ความจริงแล้ว โทปาซเป็นชื่อเกาะที่ขุดเจอหินเหล่านี้อยู่แถบทะเลแดง, Turquoise เทอร์คอยซ์ สีฟ้าเป็นเครื่องรางมากว่าสามพันปีแล้ว บ้านเราเรียก สีฟ้าไข่นกการเวก และยังมีหินสีประเภทต่างๆ เช่น Aquamarine อะความารีน สีฟ้าน้ำทะเล ซึ่งมีความเชื่อว่านางเงือกเป็นผู้คอยดูแล, Peridot เพอริดอท สีเขียวมะกอก บางคนเรียก Evening Emerald มรกตกลางคืน หรือแม้แต่ Coral ได้แก่ ปะการัง ก็ถูกนำมาเป็นเครื่องรางตั้งแต่สมัยโบราณ อัญมณี เครื่องประดับอัญมณี สำหรับประเทศไทยเองนั้น “เครื่องรางของขลัง” มีความผูกพันกับคติความเชื่อของสังคมไทยมายาวนานมาก โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นแกนกลาง บรรดาเครื่องรางของขลังต่างๆ นับเป็นส่วนเสริมให้พุทธาคม กฤตยาคม และไสยาคม สามารถเข้ากันได้และเดินไปด้วยกันอย่างเป็นระบบเป็นระเบียบ ซึ่งบางครั้งมันเป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกันสำหรับสังคมคนไทย การใช้ "หินสี" เป็นเครื่องรางและเครื่องประดับก็ปรากฏด้วยเช่นกันถึงกับรจนาเป็นคำกลอนคล้องจองกล่าวถึง "รัตนชาติ" หรือ "เนาวรัตน์" อันเป็น หินสี 9 ประเภท ในบ้านเราว่า "เพชรน้ำดีมณีแดง เขียวใสแสงมรกต   เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่กล่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์" แล้วยังมีการกำหนดความเป็นมงคลในการสวมใส่เครื่องประดับ หรือ อัญมณี หินสี เหล่านี้ตามความเชื่อ เช่น วันอาทิตย์ จะใส่อัญมณี โทนสีแดง เช่น โกเมน ทับทิม เพชร วันจันทร์ จะเป็นพวก มุก บุษราคัม อำพัน วันอังคาร นิยมใส่ เพชร ปะการัง ไข่มุก วันพุธ เชื่อว่า หยก มรกต จะนำโชค วันพฤหัสบดี ใส่ บุษราคัม ไพฑูรย์ วันศุกร์ ใส่ ไพลิน บลูโทปาซ วันเสาร์ ใส่ นิล หรือ พลอยดำ เป็นต้น ในความเป็นจริงแล้วแนวคิดการใส่ ‘หินสี’ ให้ถูกโฉลกโชคดีมีชัย จะมาจากตำราสวัสดิรักษา ซึ่งแต่งโดยสุนทรภู่ พูดถึงสีที่ใช้ในแต่ละวันว่า เครื่องประดับอัญมณี เครื่องรางของขลังไทย "วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล      วันจันทร์เครื่องนั้นควรสีนวลขาว จะยืนยาวชันษาสถาผล อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน เป็นมงคลขัตติยาไม่ราคี            ถึงวันพุธสุดดีด้วยสีแสด กับเหลืองแปดปนประดับสลับสี พฤหัสทรงเครื่องเขียวเหลืองดี วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม ถึงวันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ แสนประเสริญเสี้ยนศึกจะนึกขาม  ทั้งพาชีขี่ขับประดับงาม ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัย" เครื่องรางของขลังไทย เครื่องรางของขลังไทย คนไทยเราก็ใช้ "เครื่องราง" เป็น "สิ่งชี้นำ" เช่นกัน เวลาจะทำอะไร ก็จะอาศัยเครื่องรางเป็นสิ่งบ่งชี้ ช่วยกำหนดการตัดสินใจ หรือคอยช่วยเหลือ ป้องกันภยันตรายต่างๆ นี่ไม่รวมการทำไสยศาสตร์ แบบเสน่ห์ยาแฝด ร้อยแปดอาถรรพณ์ ประเภทเสกหนังควายเข้าท้อง ฝังรูปฝังรอย เสกวัวธนู ควายธนู อีกร้อยอีกพันอย่าง ล้วนเป็นคติความเชื่อซึ่งฝังรากลึกในสังคมไทย ชนิดที่ว่าแยกกันไม่ออกกับชีวิตประจำวันของสังคมทีเดียว เขาถึงเรียกกันว่า "เครื่องราง" คล้ายๆ กับ “ลางสังหรณ์" แต่ “เครื่องราง” จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดนิมิต ลางดี ลางร้ายต่างๆ เปรียบเหมือนการเตือนสติให้ระมัดระวัง ไม่ประมาท จะออกทางไหน ซ้ายหรือขวา เครื่องรางก็จะช่วยชี้นำตัดสินใจให้ น่าจะเรียกได้ว่า ‘การเสี่ยงทาย’ นั่นแหละ ซึ่งก็น่าจะมีส่วนดีจริงๆ บรรดา “วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง” อันเกิดจากฝีมือคนโบราณในอดีตนั้น ล้วนแล้วแต่มีความหมายและแฝง "นัย" ของภูมิปัญญาผู้คนในอดีตทั้งสิ้น  เครื่องรางของขลังโบราณของบ้านเรามีสารพัดชนิด เช่น ประคำ ผ้าประเจียด เบี้ยแก้ ยันต์นาๆ ประเภท ปลัดขิก ตะกรุด ลูกอม กะลาตาเดียว เขี้ยวหมูตัน หนังหน้าผากเสือ รักยม กุมารทอง แหวนพิรอด รูปเคารพต่างๆ เช่น รักยม กุมารทองนางกวัก แม่โพสพ หรือ เสือ สิงห์ วัวธนู ลิง หนุมาน ฯลฯ ล้วนเข้าข่ายเป็นเครื่องรางของขลังทั้งสิ้น เรียกได้ว่าคนไทยเรามีเครื่องรางของขลังไม่แพ้ชาติใดในโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในโลกตะวันตกหรือตะวันออกด้วยกัน ดีไม่ดีอาจติดอันดับต้นๆ ชนิดที่ฝรั่งเห็นแล้วงง เพราะวิเคราะห์วิจัยไม่ออกบอกไม่ถูกว่ามายังไง ไปยังไง ครับผม โดย ราม วัชรประดิษฐ์