แปลงผักปลอดสารพระราชทาน เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรโครงการปลูกผักปลอดสารพิษบนพื้นที่ส่วนพระองค์ ริมถนนคู่ขนานทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา บริเวณถนนพระราม 9 ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพื้นที่จำนวน 10 ไร่ ให้บริษัทมงคลชัยพัฒนา จำกัด ดำเนินการพัฒนาที่ดินเป็นแปลงปลูกผักปลอดสารพิษออกจำหน่ายแก่ประชาชน ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริในการนำเอาที่รกร้างว่างเปล่าในเมืองมาปลูกผักสวนครัว ให้แต่ละชุมชนได้ปลูกผักสวนครัวไว้บริโภค จะต้องไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหาซื้อพืชผัก โดยพื้นที่เดิมของโครงการนี้เป็นที่ดินว่างเปล่าเต็มไปด้วยวัสดุก่อสร้างและในดินมีธาตุอาหารต่ำ จึงได้ปรับคุณภาพดินด้วยการใช้อินทรีวัตถุ ปุ๋ยและกากน้ำตาลช่วยระหว่างการทดลองปลูกผัก โดยอาศัยน้ำจากคลองพลับพลาซึ่งอยู่ติดกับแปลงผักเป็นแหล่งน้ำหลัก และจากการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแปลงผักในวันนั้น พระองค์ทรงถ่ายภาพแปลงผักอย่างละเอียด พร้อมกับพระราชทานคำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูกผักและการเคลื่อนย้ายผลผลิตไปสู่ผู้บริโภค เพื่อให้ผักปลอดสารพิษเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าต่อพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง. การพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆฯ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านทุ่งเค็จ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อทรงหาแหล่งน้ำจืดให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณคลองแฆแฆ ซึ่งเป็นพื้นที่พรุมีน้ำขังตลอดปีจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงมีพระราชดำริให้แก้ปัญหา ด้วยการนำน้ำจืดจากแม่น้ำสายบุรีเข้ามาชะล้างดินเปรี้ยวในพรุแฆแฆ และถึงแม้วันนั้นจะเป็นเวลาใกล้ค่ำ พระองค์ก็ยังเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปทอดพระเนตรแนวทางน้ำที่จะขุดคลองเข้ามายังพื้นที่พรุด้วยพระองค์เอง.......ซึ่งผลจากการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น ได้มีการก่อสร้างระบบระบายน้ำและระบบส่งน้ำในปี 2536 เพื่อช่วยระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่และเก็บน้ำจืดไว้ใช้ พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้น้ำ เค็มไหลเข้าสู่พื้นที่ทำการเกษตร และทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองทดลองวิจัยโครงการแกล้งดินเพื่อนำผลสำเร็จมาใช้กับพื้นที่พรุแฆแฆ ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ประมาณ 1,1000 ไร่ ของโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.น้ำบ่อ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี แห่งนี้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างดี มีการผลิตข้าวพันธุ์ดีเฉลี่ย 580 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นแหล่งอาหารที่ยังความเจริญงอกงามมาสู่พื้นที่พรุแฆแฆได้อย่างยั่งยืน. โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง.ฯ..การพัฒนาเชิงบูรณาการ วันที่ 2 ตุลาคม 2536 ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะทำงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลความก้าวหน้าของแผนงาน ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริไว้เมื่อพุทธศักราช 2535 และได้พระราชทานพระราชดำริ ความตอนหนึ่งว่า “ ควรเร่งก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนังให้เสร็จโดยเร็ว ให้ถือเป็นจุดเริ่มต้นรวมในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำจืดสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง ปัญหาน้ำทะเลหนุนในฤดูแล้ง ปัญหาน้ำท่วมทำความเสียหายแก่พื้นที่ทำกินของราษฎรในฤดูฝน และเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำกินของราษฎรให้ได้ผล ควรพิจารณาขุดคลองระบายน้ำฉุกเฉินต่อจากแม่น้ำปากพนังที่บริเวณทำนบดินปิดลำน้ำเดิม พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำในคลองระบายน้ำ เพื่อช่วยส่งน้ำออกจากพื้นที่โครงการลงสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น ” ด้วยพระราชดำริในวันนั้น ได้ก่อเกิดการพัฒนาเชิงบูรณาการโดยยึดสภาพภูมิประเทศและปัญหาของพื้นที่เป็นหลักในการพัฒนาแก้ปัญหาอย่างรอบด้านให้แก่ราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช ,สงขลา และพัทลุง อันนำมาสู่ชีวิตที่มีสุขแล้วในวันนี้ โครงการบ้านโคกกูแวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันที่ 3 ตุลาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการบ้านโคกกูแวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและขุดคลองส่งน้ำสายหลักกับคลองส่งน้ำสายซอย พร้อมกับอาคารในคลอง สำหรับรับน้ำจืดจากคลองมูโนะที่บริเวณคลองโคกโก ส่งไปช่วยชะล้างดินเปรี้ยว ตลอดจนเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ โดยคลองจุดดังกล่าวมีแนวระหว่างขอบพรุกับพื้นที่เพาะปลูกไปตามระดับพื้นดินที่เหมาะสม แล้วส่งน้ำลงคลองธรรมชาติที่ดำเนินการขุดลอกเพื่อใช้ประโยชน์เป็นคลองระบายน้ำ สำหรับระบายน้ำส่วนเกินในช่วงฝนตกชุกออกจากพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และมีอาคารอัดน้ำที่สามารถทดน้ำกับบังคับน้ำให้ไหลเข้าไปชะล้างดินเปรี้ยวในบริเวณพื้นที่โครงการฯ ได้อย่างสะดวก วันแล้ววันเล่าที่การพัฒนาและความเจริญได้ก่อเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านโคกกูแว....ด้วยพระราชดำริอันนำมาสู่วันที่สร้างสุขให้แก่ราษฎรไทยแล้วในวันนี้. ทอดพระเนตรเขตบ้านโคกใน ในอดีต เกษตรกรจังหวัดนราธิวาสต้องประสบกับความทุกข์ร้อนเนื่องจากพื้นที่ทำกินอยู่ในพรุ ซึ่งมีน้ำท่วมขังและเกิดการทับถมของอินทรีย์วัตถุสร้างความเป็นกรดให้แก่ผืนดิน ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 5 ตุลาคม 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และทอดพระเนตรพื้นที่พรุในเขตบ้านโคกใน ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งกรมชลประทานดำเนินงานสนองพระราชดำริในการขุดคลองระบายน้ำและขุดลอกคลองธรรมชาติ เพื่อระบายน้ำออกจากพรุให้สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของราษฎร ตลอดจนมีโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ในคลองระบายน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง เช่นเดียวกับอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎร อันนำมาสู่ทฤษฎีแกล้งดิน ซึ่งได้พลิกฟื้นพื้นที่พรุให้สามารถสร้างประโยชน์ด้านการเกษตรกรรมและประกอบอาชีพ ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้แก่ราษฎรไทย ปิดตำนานปลาร้องไห้... บ้านปาตาตีมอ.....คือหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ติดชายทะเลใน ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำประมงเพาะเลี้ยงปลากะพงและปลาทับทิมในกระชังบริเวณปากแม่น้ำสายบุรี แต่ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนเข้ามาถึงบริเวณปากแม่น้ำจะเกิดปัญหาน้ำเค็ม ปลากะพงที่เลี้ยงในกระชังจะเปลี่ยนสีและมีรสชาติไม่อร่อยไม่เป็นที่ต้องการของตลาด และมีครั้งหนึ่งที่น้ำจากพรุบาเจาะซึ่งเป็นน้ำเปรี้ยวเป็นกรดไหลลงแม่น้ำสายบุรีเป็นจำนวนมาก ทำให้ปลากะพงในกระชังตายหมด จนชาวบ้านปาตาตีมอรู้สึกสิ้นหวัง.... เมื่อความทุกข์ร้อนเหล่านั้นทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2536 พระองค์ทรงซักถามชาวบ้านที่มาเฝ้าฯ รอรับเสด็จ ที่เอาแต่กอดปลากะพงร้องไห้ว่าเลี้ยงปลากี่กระชัง ขนาดกี่นิ้ว ราคาเท่าไร จากนั้นทรงหาหนทางช่วยเหลือ และต่อมาไม่นานได้พระราชทานพันธุ์ปลากะพงขนาด 1 นิ้ว ครอบครัวละ 1,000 ตัว รวม 8 ครอบครัว พร้อมอาหารปลาและซื้ออวนให้ใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังพระราชทานโครงการโดยเรียกว่า “โครงการปลาร้องไห้”แม้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะล่วงเลยมากว่า 20 ปี แต่ชาวบ้านปาตาตีมอ มิเคยลืมเลือนน้ำพระราชหฤทัยห่วงใย ที่ทรงมอบให้แก่หมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนใต้ของแผ่นดินไทย จนทำให้วิถีชีวิตที่เคยยากจนกลายมาเป็นอยู่ดีกินดีมีความสุข และปลาในแม่น้ำสายบุรีได้กลับมาสร้างชีวิตใหม่ ราษฎรไม่ต้องร้องไห้อีกต่อไป. ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยม่วงฯ จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของราษฎร ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริให้ทำการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยม่วงให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น ซึ่งแต่เดิมสามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 560,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ด้วยศักยภาพน้ำต้นทุนที่ไหลจากลำห้วยม่วงได้เอื้ออำนวยให้สามารถเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้สนองพระราชดำริทำการปรับปรุงโดยการเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักประมาณ 700,000 ลูกบาศก์เมตร ประกอบกับการสร้างฝายต้นน้ำลำธารเพื่อเก็บสะสมน้ำไว้ใต้ผิวดินอีกส่วนหนึ่ง ทำให้ราษฎรในบริเวณโครงการและบริเวณใกล้ เคียงรวม 7 หมู่บ้าน 237 ครัวเรือนมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี.......ด้วยแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ในวันนั้น ทำให้ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยม่วงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญประจำหมู่บ้าน และเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยพัฒนากิจกรรมต่างๆ ของราษฎรให้ดำเนินไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน.