วันนี้ (17 มกราคม 2567) นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ และในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566  มีผู้พบศพ น.ส.บัวผัน (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี ถูกคนร้ายฆ่าทุบศีรษะและใบหน้า และนำไปโยนทิ้งในสระน้ำบริเวณหลังปั๊มน้ำมัน ปตท.เก่า (ร้าง) ข้างโรงเรียนอนุบาลศรีอรัญโญทัย  ถนนสุวรรณศร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยหลังเกิดเหตุตำรวจนำตัว นายปัญญา (ขอสงวนนามสกุล) หรือเปี๊ยก สามีผู้ตายมาสอบสวน ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายร่างกาย น.ส.บัวผัน จนเสียชีวิต โดยเอาเก้าอี้ฟาดศีรษะถึงแก่ความตาย แล้วเอาศพ ไปทิ้งบ่อน้ำ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในพื้นที่เทศบาลเมืองอรัญประเทศ และพบกลุ่มวัยรุ่น 5 คน กำลังรุมทำร้ายร่างกาย "ป้าบัวผัน" จนสลบ จากนั้นจึงลากตัวไปยังสนามฟุตบอลโรงเรียน เพื่อทำร้ายร่างกายซ้ำจนเสียชีวิต ก่อนนำศพ ไปโยนทิ้งในบ่อน้ำ เจ้าหน้าที่จึงเข้าจับกุมตัวทั้งหมด นั้น  กระทรวงยุติธรรม โดย สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสระแก้ว โดย นางสาวเบญญาภา ทองสัมฤทธิ์  รักษาราชการแทนยุติธรรมจังหวัดสระแก้ว ได้ลงพื้นที่รับแจ้งสิทธิคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ และแจ้งสิทธิ ในการขอรับการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เรียบร้อยแล้ว
 
นายธีรยุทธ ฯ กล่าวย้ำว่า เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญและสาธารณชน ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้ง ผู้เสียชีวิต เป็นผู้ถูกกระทำและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่มีสิทธิได้รับการเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559)  โดยทายาทมีสิทธิได้รับการเยียวยา (1) ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ความตาย จำนวน 100,000 บาท (กรณีอุจฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และสาธารณชนให้ความสนใจ) (2) ค่าจัดการศพ 20,000 บาท (3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท และ (4) ค่าเสียหายอื่น 40,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ทั้งนี้ การอนุมัติเยียวยา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอนุกรรมการจังหวัดสระแก้วเป็นสำคัญ ซึ่งกำหนดประชุมพิจารณาในวันที่ 31 มกราคม 2567 นี้

 ส่วนการช่วยเหลือ นายปัญญาฯ (ลุงเปี๊ยก) สามีของผู้ตาย  ที่ได้ถูกคุมขัง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดตัวจริงได้นั้น มีสิทธิได้รับการเยียวยา ตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม  พ.ศ.2558  (กรณีเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน) อาจได้รับเงินช่วยเหลือจากที่ถูกขังในชั้นสอบสวน  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัดสระแก้ว เช่นกัน

 นายธีรยุทธ ฯ กล่าวเพิ่มว่า  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา จำนวน 8,341 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 445,000,000 บาท และ ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ตั้งแต่วันที่    1 ตุลาคม 2566 ถึง วันที่ 12 มกราคม 2567) ได้ช่วยเหลือเยียวยาแล้ว จำนวน 3,405 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 170,316,046 บาท