ผันน้ำเข้าที่ส่วนพระองค์ช่วยบรรเทาน้ำท่วม ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2549 เป็นอีกปีหนึ่งที่มีฝนตกชุกจนเกิดอุทกภัยในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงติดตามสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นและทรงห่วงใยในความทุกข์ร้อนของราษฎรเป็นอย่างยิ่ง จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2549 ให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปในที่ดินส่วนพระองค์ที่พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นพื้นที่พักน้ำและช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้เบาบางลง อีกทั้งยังเป็นการชะลอน้ำมิให้ไหลท่วมพื้นที่เศรษฐกิจชั้นในอย่างกรุงเทพมหานครอีกด้วย เนื่องจากพื้นที่บริเวณทุ่งภูเขาทองและพระราชานุสาวรีย์นั้นเป็นทุ่งกว้างที่สามารถเก็บกักน้ำได้เป็นอย่างดี และส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่งผลทำให้ชาวบ้านอีกหลายคนยอมเสียสละ.........อนุญาตให้ผันน้ำเข้าที่ของตนเองเพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวม ตามที่พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงเสียสละเป็นตัวอย่าง เพื่อรักษาประโยชน์สุขของประเทศเป็นสำคัญ. เสด็จฯ ทอดพระเนตรฝายทดน้ำโต๊ะโมะฯ วันที่ 12 ตุลาคม 2523 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ กิ่งอำเภอสุคิริน อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรฝายทดน้ำโต๊ะโมะตามพระราชดำริ ซึ่งกรมชลประทานได้ก่อสร้างในลักษณะฝายหินก่อ มีอาคารบังคับน้ำส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกกว่า 80 ไร่ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2521 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดพุลยเดชพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาจัดทำนาสาธิตในลักษณะขั้นบันได , การรวบรวมก้อนหินมาจัดทำคันนาและร่องน้ำ , การใช้หญ้าและใบไม้แห้งหมักเป็นปุ๋ย ตลอดจนการทดน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น อาทิ ท่อน้ำที่ทำด้วยไม้ไผ่มาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกด้วยวิธีที่เรียบง่ายและประยุกต์ตามสภาพธรรมชาติแวดล้อม สามารถนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผืนแผ่นดิน และสร้างความสุขให้แก่ราษฎรได้อย่างยั่งยืน. พยุหยาตราชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่โบราณกาลมา นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า พยุหยาตราสถลมารค แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ คือ พยุหยาตราชลมารค ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงของประเพณีการทอดกฐิน พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือรบแห่แหน จัดเป็นประเพณีที่สำคัญนับแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน และในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2530 ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้นอีกวาระหนึ่ง โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินลงประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ณ ท่าวาสุรี เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ซึ่งกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ ถือเป็นวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความเป็นชาติอย่างหนึ่งของคนไทย......เสียงเห่เรือดังก้องท้องน้ำมาแต่ไกลในวันวาน ที่ขานรับกันอย่างเป็นจังหวะไม่สิ้นสุด โดยมีพระประมุขของแผ่นดินประทับในกระบวนเรือให้ไพร่ฟ้าได้ชื่นชมพระบารมี นับเป็นภาพแห่งความสุขที่เป็นเอกลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจของปวงชนชาวไทยตลอดมา . การเคลื่อนที่ของหน่วยแพทย์พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ที่มีอุปสรรคในการเดินทางเข้ามาหาแพทย์หรือเข้ามารับการรักษาจากสถานพยาบาลในเมือง ซึ่งการเดินทางแต่ละครั้งก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับโอกาสในการรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระราชประสงค์ให้พัฒนารูปแบบการให้บริการด้านการแพทย์แบบไม่หยุดอยู่กับที่ จนเกิดเป็นโครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน ด้วยวัตถุประสงค์ดังที่ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ความตอนหนึ่งว่า "... การที่ได้จัดคณะแพทย์ไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดเป็นระยะหนึ่งนั้น นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งในโรงพยาบาลของจังหวัดนั้นๆไม่สามารถที่จะบริการได้เต็มที่ เพราะบางแห่งอาจจะขาดแคลนผู้มีฝืมือ ทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างดี ที่จะช่วยชีวิตเขาได้... และไม่ทำให้ชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่าย " นับว่าคณะแพทย์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีส่วนช่วยบรรเทาทุกข์ และสร้างสุขให้เกิดขึ้นแก่ทวยราษฎร์อย่างแท้จริง. พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย 19 ตุลาคมของทุกปีถือเป็นวันเทคโนโลยีของไทย เนื่องจากวันนี้เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วหรือ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยทรงพระปรีชาสามารถบังคับให้ฝนตกลงตรงเป้าหมาย ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศ ข้าราชการและ พสกนิกรชาวไทยที่เข้าชมการสาธิตในวันนั้น ซึ่งการสาธิตฝนเทียมครั้งนั้นถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่ได้พัฒนาต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยพระปรีชาสามารถในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงหาหนทางเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับพสกนิกรชาวไทยมาตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ....... พระปรีชาด้านเทคโนโลยีสิ่งแวด้อม วันที่ 24 ตุลาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานนิทรรศการเทคโนโลยี ครั้งที่ 6 ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในโอกาสนี้ อธิบดีและผู้แทนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ด้วยประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทรงเข้าถึงหลักแห่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถ่องแท้ นำมาสู่การประยุกต์พัฒนาใช้ประโยชน์จนก่อเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายที่สร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ราษฎร เหนืออื่นใดทรงบริหารจัดการธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีอย่างสมดุล ... ทรงพัฒนาประโยชน์จาก น้ำ ดิน และป่า ควบคู่กับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณได้ก่อเกิดขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ได้ช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้า และนำความสุขมาสู่ผืนแผ่นดินไทยแล้วในวันนี้