เมื่อวันที่ 18 ม.ค.67  ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา โพสต์เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ระบุข้อความว่า...

กระแส “เอกสารปรีดี หรือ จดหมายปรีดี” ดูจะจางหายไป

แต่หลักฐานประวัติศาสตร์เกี่ยวกับท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะมาตลอด กลับไม่มีใครนำมากล่าวถึง

หลักฐานที่ว่านี้คือ ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 30 เล่ม 63 วันที่ 10 พฤษภาคม 2489 ที่มีข้อความบางตอนกล่าวถึง “ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489”

ผู้เขียนเชื่อว่า หลายคนคงทราบกันดีว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของประเทศไทย

ฉบับแรกคือ ฉบับชั่วคราว “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”

ฉบับที่สองคือ ฉบับถาวรฉบับแรก “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” (10 ธันวาคม พ.ศ. 2475)

คำถามคือ ทำไมต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ?

เหตุผลปรากฏอยู่ในคำปรารภ (ศุภัสดุ) ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 30 เล่ม 63 วันที่ 10 พฤษภาคม 2489 มีความตอนหนึ่งว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางอุดมสันนิบาต พระบรมวงศานุวงศ์และทูตานุทูตผู้แทนนานาประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนามาตยราชบริพาร เฝ้าเบื้องบาทบงกชพรั่งพร้อมกันโดยอนุกรม

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดีฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบในการจรรโลงประเทศไทยให้วัฒนาถาวรสืบไปในภายภาคหน้า จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เป็นการชั่วคราว พอให้สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎรได้จัดรูปงานดำเนินประศาสโนบายให้เหมาะสมแก่ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ครั้นแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อถือเป็นหลักถาวรแห่งรัฐประศาสนวิธีต่อไป สภาผู้แทนราษฎรจึ่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่งประกอบร่างรัฐธรรมนูญขึ้น

เมื่ออนุกรรมการได้เรียบเรียงรัฐธรรมนูญฉะบับถาวรสนองพระเดชพระคุณสำเร็จลงด้วยดี นำเสนอสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาปรึกษาลงมติแล้ว จึ่งทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคำปรึกษา เมื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศใช้แต่วันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา

ต่อมา นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ 14 ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นอเนกประการ ทั้งประชาชนจะได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทฉะเพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีจึ่งนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว รัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ จึ่งเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2488 ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง และเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น……..”

จากข้อความในคำปรารภในประกาศราชกิจจานุเบกษา รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ทำให้เราทราบที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ว่า มาจากความคิดริเริ่มของนายปรีดี พนมยงค์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

และจากข้อความเดียวกันนั้น พบว่า หลังจากที่นายปรีดีได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี และนายควง อภัยวงศ์ได้ปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง พร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ จึงได้เสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2488

ในปี พ.ศ. 2488 นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาเป็นเวลาเกือบสี่ปี

โดยได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481

ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2485 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 และไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเพิ่ม

นายปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียวมาตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2487

โดยแต่เดิม ในครั้งที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติกำหนดจำนวนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ครั้งแรก ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดลยังทรงพระเยาว์และประทับอยู่ต่างประเทศ ได้กำหนดให้มีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นจำนวนสามท่าน และกำหนดให้ในการลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษา “ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ และในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อย่างน้อยสองท่าน เป็นผู้ลงนาม”

แต่ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติ กำหนดให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงคนเดียว และให้นายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงไม่มีประเด็นเรื่องเสียงข้างมากอีกต่อไป

คำถามที่เกิดขึ้นจากที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 คือ การที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ว่า “ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทฉะเพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” นั้น

นายปรีดี พนมยงค์กำลังใช้พระราชอำนาจแทนพระองค์

พระราชอำนาจในการริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจากไหน ?

กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 หรือไม่ ?

หรือเป็นพระราชอำนาจตามประเพณีการปกครอง ?

ถ้าตามระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจดังกล่าว การกระทำของนายปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถือเป็นการใช้พระราชอำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และเป็นการแทรกแซงการเมืองหรือไม่ ?

ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายมหาชน ของไทย จึงอยากจะขอให้ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญช่วยตอบให้ผู้เขียนได้หายสงสัยด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง