ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : สัปดาห์นี้นำวันสำคัญทางศาสนาของ 5 ศาสนา ปฏิทินพุทธศักราช 2567 มาให้ได้รับรู้กันสังเขป

“ศาสนา” เป็นศัพท์ในภาษาสันสกฤต บาลีใช้คำว่า “สาสนา” แปลว่า คำสั่งสอน สำหรับวันสำคัญทางศาสนา 5 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ อิสลาม คริสต์ พราหมณ์ – ฮินดู และศาสนาซิกข์ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญบางอย่างเกิดขึ้นในศาสนานั้นๆ ส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมให้ศาสนิกชนใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามผ่านกิจกรรมศาสนานั้นๆ ในที่นี้นำปฏิทินวันสำคัญทางศาสนา 5 ศาสนา พุทธศักราช 2567 โดยอิงข้อมูลกรมการศาสนา(ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่พระพุทธองค์ประทานโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมใหญ่ของพระสาวก ซึ่งประกอบด้วยองค์ 4 ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ พระสาวก ทั้งหลายที่มาประชุม มีลักษณะ 4 ประการ ได้แก่ 1. ล้วนเป็นเอหิภิกขุ 2. ล้วนเป็นพระอรหันต์ 3. มีจำนวนถึง 1,250 รูป โดยมิได้นัดหมาย 4 วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม วิสาขบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 ประการ คือ ประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และปี 2542 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก, วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” และถือเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

วันสำคัญทางศาสนาอิสลาม เช่น วันเริ่มถือศีลอด เดือนรอมฎอน ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม เป็นวันแรกชาวมุสลิมจะถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกเป็นเวลา 30 วัน นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันเพื่อปฏิบัติศาสนกิจและกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่บ้านและมัสยิดฯ วันตรุษอีฎิ้ลฟิตริ ตรงกับวันที่ 10 เมษายน เป็นวันเฉลิมฉลองหลังจากการถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน ในมัสยิดทั่วประเทศ, วันอารอฟะห์ ตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน วันร่วมชุมนุมใหญ่ของผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ทุ่งอะรอฟะฮ์สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจย์ ศาสนาอิสลามสนับสนุนให้ทำการถือศีลอดในวันนี้

วันสำคัญทางศาสนาคริสต์ เช่น วันศุกร์ประเสริฐ ตรงกับวันที่ 29 มีนาคม วันระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐ คริสตจักรทั่วโลกจึงได้รวมตัวกันนมัสการระลึกถึงความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระเยซูคริสต์ที่ได้ทรงวายพระชนม์บนไม้กางเขน, วันสมโภชปัสกา ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม เป็นพิธีบูชาขอบพระคุณสมโภชปัสกา ในวันระลึกถึงการฟื้นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ ณ โบสถ์ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก, วันอีสเตอร์ ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม คริสตจักรจัดนมัสการฉลองชัยชนะของพระเยซูคริสต์ที่พระองค์เสด็จขึ้นจากความตายตามพระสัญญาที่ให้ไว้แก่พระสาวก ณ คริสตจักรศาสนานิกายโปรแตสแตนท์

วันสำคัญทางศาสนาพราหมณ์- ฮินดู ได้แก่ วันมหาศิวะราตรี ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ราตรีอันยิ่งใหญ่แห่งพระศิวะเป็นสัญลักษณ์ของการอภิเษกสมรส ศาสนิกชนสามารถร่วมประกอบพิธีเนื่องในวันคล้ายวันอภิเษกสมรสระหว่างพระศิวะและพระนางปารวตี (พระแม่อุมาเทวี) เพื่อความสุขความเจริญในชีวิตและการมีคู่ครองที่ดี ณ วัดเทพมณเฑียร เขตพระนคร กรุงเทพฯ, เทศกาลนวราตรี-รามนวมี ตรงกับวันที่ 9 – 17 เมษายน เป็นพิธีสวดมนต์ถวายแด่พระแม่อุมาเทวี ทั้ง 9 ปาง ตามตำนานที่พระแม่อุมาเทวีได้ปราบอสูร ที่ชื่อว่า “มหิษาสูร” ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่ว เหล่าทวยเทพจึงอัญเชิญพระแม่อุมาเทวีในร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา” ซึ่งสู้รบกับมหิษาสูรตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน และปราบลงได้สำเร็จในวันที่ 10 ศาสนิกชนผู้ศรัทธาจึงร่วมประกอบพิธีบูชาและร่วมถือศีลกินเจเพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งกายใจ

วันสำคัญทางศาสนาซิกข์ ได้แก่ วันโฮล่า โมฮัลล่า ตรงกับวันที่ 25 – 27 มีนาคม เพื่อเฉลิมฉลองความพร้อมและความกล้า เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของเหล่าพี่น้องศาสนิกชนชาวซิกข์ด้วยการประกอบพิธีสวดอัรดาส และกีรตัน จากพระคัมภีร์ในศาสนสถานทางศาสนาซิกข์ ณ สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา กรุงเทพฯ, วันวิสาคี ตรงกับวันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่พระศาสดาองค์ที่ 10 รวบรวมชาวซิกข์มาเข้าเป็นประชาคม ตั้งปัญจปิอาเร่ทั้ง 5 และดื่มน้ำพิพัฒสัตยา คือน้ำอมฤตร่วมกัน ถือเป็นวันขึ้นศักราชใหม่(ปีใหม่)แห่งศาสนาซิกข์ ด้วยการประกอบพิธีกีรตัน และสวดอัรดาสจากพระคัมภีร์ในศาสนสถาน

ทุกศาสนาส่งเสริมให้ศาสนิกชนได้เรียนรู้พิธีกรรมของกันและกัน เคารพในวิถีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน โดยมีหลักธรรมคำสอนมุ่งหมายให้คนปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรม เครดิตภาพ กรมการศาสนา