ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโลกนี้ไม่มี “สิ่งลี้ลับ” มีแต่เพียงสิ่งที่ยังไม่สามารถ “ไขความลับ”

ลุงคำปันเป็นชาวเขาเผ่าม้ง หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “แม้ว” (แต่คนม้งเองไม่ชอบให้เรียกว่าแม้ว เพราะเหมือนถูกล้อเลียนว่าเป็นแมว อย่างที่คนพื้นถิ่นบางแห่งก็เรียกม้งนี้ว่า “เหมียว” : ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) เข้ามาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่รุ่นพ่อกับแม่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยม้งกลุ่มนี้เดินทางมาจากประเทศจีนตอนใต้ติดกับประเทศลาว แล้วเดินทางลึกเข้ามาถึงจังหวัดลำปาง มาอาศัยอยู่บนเทือกเขาขุนตาน แล้วมาให้กำเนิดลุงคำปันที่นี่ โดยพ่อกับแม่ทำงานรับจ้าง “นายฝรั่ง” ทำงานบ้านและดูแลสวน ในบ้านตากอากาศที่นายฝรั่งพวกนี้มาปลูกรับอากาศเย็นอยู่บนภูเขา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายหลัง แต่ต่อมาก็ได้ขายให้กับคนไทย ตอนที่ฝรั่งกำลังแพ้ญี่ปุ่นในดินแดนเอเซียระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีหลังหนึ่งที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะที่ไปทำงานเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ที่ลำปางเมื่อสมัยหนุ่ม ๆ ได้ซื้อไว้ด้วย อันเป็นหลังที่พ่อแม่ของลุงคำปันได้ทำงานให้กับนายฝรั่งเจ้าของบ้านคนก่อนนั่นเอง แต่ท่านก็ยังไม่ได้มาอยู่ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงได้สัก 5 ปี ตอนนั้นลุงคำปันกำลังเป็นวัยรุ่น อายุสัก 14-15 ปี บ้านนายฝรั่งก็ถูกรื้อลงเพราะเก่าและทรุดโทรมมาก และทราบว่าเจ้าของคนใหม่คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะมาปลูกบ้านพักที่นี่

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตอนนั้นอายุราว 40 ปี ยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว เพียงแต่ผมเริ่มขาวจึงอาจจะดูอาวุโสกว่าอายุจริง ท่านมาลงรถไฟที่สถานีขุนตานในตอนรุ่งสาง พ่อกับแม่ให้ลุงคำปันกับพี่ ๆ อีก 2 คนลงไปรับ เพราะต้องแบกขนข้าวของรวมถึงอาหารและเครื่องครัว ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นำมาจากกรุงเทพฯพร้อมกับผู้ติดตามอีก 5 คน ที่รวมถึงพ่อครัวอีกคนหนึ่งนั้นด้วย พอได้เห็นข้าวของต่าง ๆ ก็ต้องไปหาลูกหาบมาอีก 7 คน เพื่อที่จะมาช่วยกันหาบหามข้าวของเหล่านั้น ที่ต้องใช้ลูกหาบถึง 5 คู่ คือ 10 คน เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะมาอยู่ดูการก่อสร้างถึง 2 อาทิตย์ การเดินขึ้นเขาถ้าตัวเปล่าก็ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ แต่เมื่อมีข้าวของต้องหาบหามก็ต้องใช้เวลาอีกเท่าตัว คือเกือบ 3 ชั่วโมง เพราะเดินได้ไม่เร็วนักและต้องหยุดพักระหว่างทางเป็นระยะ ส่วนท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นแต่งตัวด้วยกางเกงผ้าหม้อห้อมขายาวปลายบาน เสื้อก็ผ้าเดียวกันแบบพื้นเมืองแต่คลุมไว้อีกชั้นด้วยเสื้อผ้าฝ้ายสีหม่น ๆ ตัวโคร่ง ดูหรูหราสง่างาม จนลุงคำปันจำได้ติดตา

การก่อสร้างบ้านพักใช้เวลาไม่นาน น่าจะแค่ 4-5 เดือน เพราะเป็นบ้านไม้สักชั้นเดียว หลังคาปู่แป้นเกล็ด คือแผ่นไม้สักแทนกระเบื้อง ตั้งอยู่บนส่วนที่สูงสุดของลานดินบนเนินเขา โดยปลูกยกพื้นสูงประมาณหัวเข่า กว้างยาวสัก 4 คูณ 8 เมตร หลังหนึ่ง หลังนี้ท่านอยู่เอง โดยมี 1 ห้องนอน กับ 1 ห้องนั่ง ส่วนห้องน้ำทำทางเดินต่อจากข้างห้องนั่งเข้าไปในสวนขนาดพอ ๆ กับตัวบ้าน แล้วทำรั้วไม้ไผ่ขัดแตะปิดล้อมอีก 3 ด้านที่เหลือ มีกระต๊อบเล็ก ๆ อยู่ปลายสวนนี้ เป็นส่วนของที่นั่งระบายหนักเบา ส่วนที่อาบน้ำเป็นส่วนเปิดหลังคาโล่ง มีเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้น้ำมันก๊าดกับฝักบัวขนาดฝ่ามือและโอ่งน้ำอีก 2 ใบ ในสวนส่วนตัวนี้ปลูกกุหลาบสีต่าง ๆ ไว้หลายสิบต้น เวลาเดินผ่านเข้าไปมีกลิ่นหอมชื่นใจมาก ห่างจากบ้านหลังนี้ลงไปข้างล่างเนินเขาสัก 20 เมตร ปลูกเป็นบ้านรับรองแขก มีสองห้องนอน ขนาดราว 4 คูณ 10 เมตร ห้องขนาบหัวท้ายของแนวยาว ตรงกลางคั่นด้วยห้องนั่งเล็ก ๆ และมีทางเดินไปห้องน้ำด้านหลัง ถัดไปคือบ้านของครอบครัวลุงคำปัน ที่เป็นฝาไม้ไผ่ พื้นไม้แผ่น กับหลังตาใบตองตึง  ซึ่งในตอนที่ก่อสร้างบ้าน ก็ได้ต่อเติมส่วนนี้ขึ้นอีก เพื่อให้ผู้ติดตามหรือคนรับใช้ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อีก 5 คนนั้นได้พักด้วย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นผู้วางแปลนบริเวณบ้านและสวนบนนั้นทั้งหมดด้วยตัวของท่านเอง ตอนนั้นท่านสูบบุหรี่ฝรั่งเศสกลิ่นฉุนมาก ท่านแกะซองบุหรี่นั้นแผ่ออกต่อหน้าช่างปลูกบ้าน ที่คนทางเหนือเรียกว่า “สล่า” ที่มานั่งรายล้อมท่านอยู่ 3 - 4 คน แล้วเอาปากกาหมึกซึมขีดเส้นลงไป พร้อมกับอธิบายให้สล่าฟัง สล่าก็พยักพร้อมกัน ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ระหว่างที่ก่อสร้างท่านขึ้นมาอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกมาวางผังปลูกต้นลิ้นจี่รอบ ๆ ตัวบ้าน ในบริเวณที่ดินราว 30 ไร่ ส่วนอีกครั้งต่อมา ท่านมาวางผังทำ “สวนญี่ปุ่น” โดยเรียกพ่อกับลุงคำปันและพี่ชายอีก 2 คนให้มาดู แล้วใช้กิ่งไม้ลากเส้นลงบนดินหน้าบ้านพัก เริ่มจากวาดเป็นวงรีขนาดสัก 3 คูณ 4 เมตร บอกว่านี่คือบ่อน้ำ ตรงปลายบ่อด้านที่ลงเนินก็ลากเป็นเส้นคู่กว้างสัก 2 เมตร ไล่ยาวเป็นแนวคดเคี้ยวลงไปสัก 20 เมตร บอกว่านี่คือลำธาร แล้วมีบ่อขนาดพอ ๆ กันกับอันข้างบนนั้นอีก 1 บ่ออยู่ตรงปลายลำธารด้านล่าง แล้วบอกว่าเมื่อขุดบ่อและลำธารเสร็จแล้ว ให้ขนหินขนาดต่าง ๆ มาทำเป็นแนวขอบบ่อและขอบลำธารนี้ อัดดินก้นบ่อและลำธารให้แน่น เอาทรายละเอียดมาอัดทับอีกที โรยด้วยกรวดขนาดต่าง ๆ ให้ทั่ว เดี๋ยวแกจะมาทำสวนรอบบ่อและขอบลำธารนี้ให้สวยงาม

ลุงคำปันหรือที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกตามคนอื่น ๆ บนดอยนั้นว่า “อ้ายปั๋น” ยืนฟังอย่างตื่นเต้น แกบอกว่าชอบฟัง “คุณชาย” พูดมาก เพราะเสียงดังฟังชัด เข้าใจง่าย มีเสน่ห์และน่าฟัง จึงจำทุกเรื่องราวในตอนนั้นได้อย่างละเอียด ทั้งยังชอบเล่าเกี่ยวกับคุณชายนี้ให้ทุก ๆ คนที่รู้จักกับแกได้ฟังด้วย เช่นเดียวกันกับผมที่ได้ติดตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ใน พ.ศ. 2520 ที่ได้ใช้ช่วงปิดเทอมจากการเรียนมหาวิทยาลัย ติดตามท่านขึ้นไปดอยขุนตานเป็นครั้งแรกในปีนั้น ตอนนั้นลุงคำปันก็มีอายุราว 40 ปี แต่ยังไม่แต่งงาน ซึ่งผิดปกติหนุ่ม ๆ ชาวเขา ที่มักจะแต่งงานกันตั้งแต่อายุน้อย ๆ เมื่อสนิทกับแกแล้วก็เลยลองถามแกว่ามีปัญหาอะไร แกก็นิ่งไปสักครู่ ก่อนจะบอกว่า เรื่องมันยาวแล้วจะค่อย ๆ เล่าให้ฟัง

ผมขึ้นไปขุนตานกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อีกหลายครั้งทุก ๆ ปี โดยเฉพาะในหน้าหนาว บางปีไปติด ๆ กัน 2-3 ครั้งทุก ๆ เดือนในช่วงหน้าหนาวนั้น และก็ได้คุยกับลุงคำปันอยู่เสมอ ๆ แต่แกก็ยังไม่เฉลยเรื่องที่แกทำไมจึงไม่แต่งงานสักที จนเมื่อท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มาปลูกบ้านพักที่ริมแม่น้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2524 ซึ่งพอสร้างเสร็จ ก็ขอให้ลุงคำปันลงจากขุนตานมาช่วยดูแลสวนที่เชียงใหม่นี้ด้วย แต่คราวนี้แกพาเมียมาด้วย ทุกคนแปลกใจมาก รวมถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เพราะเมียของแกไม่เพียงแต่หน้าตาดี แต่ยังดูเด็กมาก น่าจะอายุไม่ถึงยี่สิบปี และที่ทุกคนเรียกแกว่า “ลุงคำปัน” ก็เพราะเรียกตามเมียของแกนั่นแหละ ที่เรียกผัวตัวเองว่า “ลุง” ทุกคำ

ผมเองก็อดปากอดใจไม่อยู่ เช้าวันหนึ่งตอนที่แกกำลังรดน้ำต้นไม้ ก็ลองไปแกล้งเดินคุยกับแก เริ่มจากบอกเรื่องการดูแลดอกไม้บางชนิดที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สั่งเมล็ดมาปลูกจากอังกฤษ และต้องขอให้แกรดน้ำไม่ให้แฉะจนเกินไป แล้วก็ไถลไปถามถึงเรื่องเมียเด็กของแก ทีนี้แกอมยิ้มอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบเหมือนนักกีฬาที่เพิ่งชนะได้แชมป์โลกว่า

“มันเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า” จากนั้นเรื่องราวต่าง ๆ ก็พรั่งพรูออกมา