สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์  

เราได้กล่าวถึงเอกลักษณ์แม่พิมพ์ของพระรอด กรุวัดมหาวันมาแล้วถึง 4 พิมพ์ด้วยกันคือพระรอดพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์ต้อและพิมพ์ตื้น และครั้งนี้ถือว่าเป็นพิมพ์สุดท้ายของจำนวน 5 พิมพ์ของพระรอด นั่นก็คือพระรอด พิมพ์เล็ก สำหรับพระรอดเป็นอีกหนึ่งในพระชุดเบญจภาคี และเป็นพระที่มีอายุมากที่สุดของพระในชุดเบญจภาคี สำหรับพระรอดพิมพ์เล็กนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นพระขนาดเล็กกว่าพระรอดพิมพ์อื่นๆ เนื้อหาของพระรอดพิมพ์นี้ก็เป็นเช่นเดียวกับพระรอดพิมพ์ใหญ่และพิมพ์กลาง จะมีความแตกต่างกันก็เพียงแต่จุดลับ สัญลักษณ์และพิมพ์ทรง เท่านั้น

เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระรอด พิมพ์เล็ก

- มีปีกจากเนื้อดินเกินจากบล็อก

- ใบโพธิ์จะเป็นโพธิ์คู่และมีโพธิ์ติ่ง ทุกใบจะมีขอบชัดเจน ตรงกลางใบโพธิ์จะบุ๋มลงเหมือนแอ่งกระทะ และไม่มีทิศทางไปในทางเดียวกัน

- ด้านบนจะมีจุดโพธิ์ติ่ง และมี 3 ใบเหนือปลายพระเกศ ด้านข้างพระเศียร 2 ใบ กลุ่มโพธิ์แถวนอกใหญ่กว่าแถวใน และโพธิ์คู่จะมีระดับสูงเกือบเสมอกัน

- พระกรรณข้างซ้ายจะเห็นชัดกว่าใบหูขวา จะมีติ่งติดอยู่กับปลายเศียรข้างซ้ายด้านบน และกลางพระกรรณซ้ายจะมีโพธิ์ติ่งเป็นเม็ดมองเห็นอย่างชัดเจน

- ปลายพระกรรณด้านซ้ายเป็นตะของอเข้า

- ใต้พระหนุ (คาง) ด้านซ้ายขององค์พระมีเส้นเล็กๆ ยื่นตรงลงมาถึงพระอังสา เรียกว่า ‘เส้นเอ็นพระศอ (คอ)’

- มีเส้นนูนเล็กใต้พระกัประ (ข้อศอก) ด้านซ้าย ใต้ข้อพระหัตถ์ และตรงส้นพระบาทซ้ายที่ละ 1 เส้น

- พระนาภี (สะดือ) มีลักษณะเป็นเบ้าขนมครก

- พระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ด้ายซ้ายที่ขัดสมาธิจะแตกออกเป็นแฉก 3 แฉก มีเส้นผ้าปูเล็กๆ เท่าเส้นผมวางเป็นแนวนอน

- ฐานประทับมี 3 ชั้นฐานชั้นบนจะดูหนากว่าฐานชั้นอื่นๆ

- ฐานล่างสุดจะถูกกดย่นเป็นรูปสามเหลี่ยมทั้งสองข้าง ข้างละ 3 แฉก

- พระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) ด้านขวาจะกางออกและถูกตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

- ส่วนล่างสุดขององค์พระ (ก้น) จะถูกตัดช่วงฐานล่างสุดพอดี

ส่วนทางด้านพุทธคุณนั้นไม่ต้องพูดกันให้มากความล้วนเป็นเลิศด้านแคล้วคลาดนิรันตราย  รวมทั้ง อยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม อุดมด้วยโภคทรัพย์ ครบครัน สำหรับพระรอดกรุวัดมหาวันเท่าที่พบนับได้ว่าเป็นพระที่มีการปลอมแปลงมากที่สุดก็มีอยู่ด้วยกัน 2 พิมพ์คือพระรอดพิมพ์ใหญ่และพระรอดพิมพ์เล็ก ดังนั้นก่อนจะมีไว้ครอบครองต้องศึกษาและพิจารณากันอย่างละเอียดถี่ถ้วนไม่งั้นก็ตัวใครตัวเผือกแล้วครับผม