วันที่ 20 ม.ค.2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดงานนิทรรศการภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. สร้างต้นแบบในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตก 11 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา พัทลุง สตูล ตรัง กระบี่ สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดย 

ผศ.ดร.จิรศักดิ์ แซ่โค้ว คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่เน้นแบบ Active Learning ของครูและบุคลากร จะส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มุ่งผลด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษา การพัฒนาให้ครูมีภาวะผู้นำทางการเรียนการสอนเป็นต้นแบบให้เพื่อนร่วมวิชาชีพ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นช่องทางการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาชีพ การเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญและเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับครูในการพัฒนานวัตกรรการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้ส่งผลถึงศักยภาพการคิดขั้นสูงเชิงระบบของนักเรียน

“เมื่อก่อนเราเรียนแบบเน้นการบรรยาย แต่ตอนนี้เป็นการเรียนแบบ Active Learning เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถช่วยให้นักเรียนคิดได้ คิดเป็น แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนได้ โดยการบูรณาการความรู้ทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ก็เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นผลเชิงประจักษ์ต่อผู้เรียน ที่จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาวิชาชีพของครูอีกทางหนึ่ง และยังแสดงให้เห็นผลงานนวัตกรรมในการสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการ ทักษะที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจากการเรียนรู้แบบ Active Learning และหลายนวัตกรรมยังได้เชื่อมต่อกับชุมชนด้วย นั่นคือชุมชนได้ประโยชน์จากโรงเรียน ชุมชนได้ประโยชน์ที่เด็กเรียนในห้องเรียนสู่นวัตกรรมของชุมชน”ผศ.ดร.จิรศักดิ์กล่าว 

ดร.ณัฐชยา เม็นไธสง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สพฐ. กล่าวว่า นิทรรศการครั้งนี้มีนวัตกรรมของโรงเรียนซึ่งเป็นนวัตกรรมของครูและนักเรียนที่เกิดจากการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps มานำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งล้วนแต่เป็นนวัตกรรมที่สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเมื่อได้เห็นเด็ก ๆ และ คุณครูที่มาจัดบูธก็รู้สึกถึงความตื่นของครูและเด็ก ๆ ที่สร้างนวัตกรรมจากกระบวนการคิดขั้นสูง และถ้าวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นโปรเจ็กที่เกิดจากกระบวนการคิดหรือการมีส่วนร่วมในทุก ๆ ขั้นตอนตั้งแต่รวบรวม วิเคราะห์เพื่อสร้างนวัตกรรมของเด็ก ๆ เอง ทำให้เห็นว่าเด็ก ๆ มีความสุขสนุกสนานในการคิด ดังนั้นตัว GPAS 5 Steps ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานีส่งเสริมและช่วยเหลือ ครู ในการจัดการเรียนการสอนทำให้เด็กเกิดสมรรถนะตามฐานสมรรถนะหลาย ๆ ด้าน

“สิ่งหนึ่งที่เกิดความประทับใจ คือ เด็กเล็ก ๆ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยสามารถสามารถสร้างนวัตกรรมได้ และที่ทำให้ทึ่งมาก ก็คือ เด็ก ๆ กระบวนการคิดและสร้างนวัตกรรมที่ไม่ได้ด้อยกว่าเด็กประถมหรือมัธยม เพียงแต่เป็นพัฒนาการตามระดับหรือช่วงชั้นเท่านั้น ดังนั้นอยากให้ทุกคนมองจุดหมายปลายทางว่า ที่เราต้องการไปพัฒนาประเทศหรือพัฒนาผู้เรียนให้เกิดนวัตกรรมหรือนวัตกร สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากให้มองข้าม คือ เทรนด์เรื่องของซอฟพาวเวอร์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของเด็ก ๆ ซึ่งจะถูกถ่ายทอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมหรือความเป็นนวัตกรของเด็กในโรงเรียน”ดร.ณัฐชยากล่าวและว่า นิทรรศการครั้งนี้ทำให้เห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ของเด็ก ๆ ที่เป็นนวัตกรและยังเห็นนวัตกรรมที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมงานได้เห็นมุมมองที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้ครูและนักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงศักยภาพในการเป็นนวัตกร ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการจัดการเรียนการสอน แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมเป็นการพลิกโฉมการสอนให้เด็กทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน สร้างการมีส่วนร่วมในการลงมือทำ อีกทั้งยังสะท้อนความสำเร็จของครูผู้สอนที่เป็นผู้บ่มเพาะนักเรียนให้เป็นนวัตกร ผู้บริหารโรงเรียนที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน แหล่งเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ รวมถึงผู้ปกครองที่เปลี่ยนความเชื่อจากการยึดถือความสำเร็จของบุตรหลานจากคะแนนสอบมาเป็นส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขและการพัฒนานักเรียนในมิติของการปฏิบัติและคุณลักษณะที่ดีงาม เพื่อสร้างให้พวกเขาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพชีวิตและสังคมที่น่าอยู่ขึ้น 

“การจัดงานครั้งนี้ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตก ถือเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการประกวดนวัตกรรมพลิกโฉมนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน โรงเรียนต้นแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซึ่งมีการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์จากกระบวนการคิดของนักเรียน โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระบบพาสปอร์ตกิจกรรมวิชาการสู่ฐานการเรียนรู้ หรือเป็นสมุดบันทึกสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งครูและนักเรียนที่จะได้รับตราประทับสะสมจากการเข้าไปศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากโรงเรียนอื่น ๆ ที่มาร่วมจัดนิทรรศการ เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดที่จะไปต่อยอดการจัดการเรียนการสอนและการสร้างนวัตกรรมต่อไป” ดร.ศักดิ์สิน กล่าว