ลีลาชีวิต /  ทวี สุรฤทธิกุล

เรื่องลี้ลับคือความเชื่อของคนโบราณ ที่คนสมัยใหม่ชอบใช้เป็นข้ออ้างให้คนอื่นเชื่อ

เมียของลุงคำปันชื่อบุญติ๊บ หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ติ๊บ” ติ๊บเป็นชาวคริสต์เหมือนลุงคำปัน รู้จักกันไม่นานก็แต่งงาน ว่ากันว่าลุงคำปันไปทำ “ผิดผี” คือล่วงเกินติ๊บเข้าก่อน จึงต้องรับผิดชอบ ทั้งในทางกฎหมายคือจะได้ไม่ถูกข้อหาข่มขืนหรืออนาจาร กับในทางจารีตประเพณี คือต้องรับเป็นเมียเมื่อได้ทำผิดผีนั้นแล้ว ซึ่งก็ดูเหมือนว่าลุงคำปันจะได้รับความเห็นใจจากคนที่รู้จักพอสมควร ที่มักจะช่วยกันแก้ตัวให้แกว่า ลุงคำปันก็เหมือนกับตุ๊เจ้า(หมายถึงพระภิกษุในภาษาชาวเหนือ)หรือฤาษีที่อยู่ในป่านาน ๆ พอมาเจอสาวรุ่นกระเตาะอย่างนางติ๊บ ที่ก็คงไม่ค่อยระมัดระวังกิริยามารยาทเท่าไหร่นัก เฉียดเข้ามาใกล้ ๆ ก็เกิดตบะแตก เพลิดเพลินเลยเถิดจนทำผิดผีดังกล่าว ซึ่งดูมีเหตุมีผลกว่าที่ลุงคำปันได้อธิบายให้ผมฟัง

ลุงคำปันบอกผมว่าแกกลัวผู้หญิงมาแต่ไหนแต่ไร พ่อแม่ของแกมีลูก 5 คน แกเป็นคนสุดท้อง พี่ชายสองกับพี่สาวสอง แม่ของแกดุมาก ๆ รวมถึงพี่สาวสองคนนั้นด้วย แกเคยลงไปเรียนหนังสือที่หลังสถานีขุนตานจนจบประถม 4 ก็เจอแต่ผู้หญิงดุ ๆ ทั้งครูและเพื่อนนักเรียนผู้หญิง ทุกวันที่ไปโรงเรียนเหมือนไปเข้าโรงฆ่า พอย่างเข้ารั้วโรงเรียนก็รู้สึกเหมือนไม่ได้หายใจ และกลั้นใจเรียนจนโรงเรียนเลิกทุกวัน ในทำนองเดียวกันกับที่มาถึงที่บ้าน ถ้าเจอแม่กับพี่สาวก็จะถูกจิกหัวใช้งานสารพัด แม้กระทั่งซักผ้านุ่ง(ผ้าถุงของคนภาคกลาง)และกางเกงใน แต่จะมีความสุขมากในวันเสาร์อาทิตย์ ที่ตอนนั้นนายฝรั่งยังขึ้นมาพักที่บ้านบนดอยนั้นเป็นประจำ พ่อที่ทำงานอยู่กับนายฝรั่งนั้นอยู่ก่อนแล้ว มักจะเอาแกติดตามไปทำงานด้วย ที่สุดแกก็ขอให้พ่อบอกนายฝรั่งว่าจะขอทำสวนแลกค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งนายฝรั่งก็ตกลง

ป่าบนดอยขุนตานเมื่อครั้งที่ลุงคำปันยังเด็ก ๆ และทำงานอยู่กับนายฝรั่ง เป็นป่าทึบต้นไม้ขึ้นแน่นหนามาก ถ้าไม่ได้เดินขึ้น ๆ ลง ๆ คราวละหลาย ๆ กิโลเมตร ก็จะไม่ได้รู้สึกเลยว่าตัวเองนั้นอยู่บนดอย เพราะมีแต่สีเขียวครึ้มทุกทิศเหมือนป่าดงดิบมากกว่า ถ้าอยากจะเห็นดอยจริง ๆ ต้องหาต้นไม้สูง ๆ ปีนขึ้นไปให้พ้นดงไม้ข้างล่าง จึงจะได้เห็นว่ามีภูเขาลูกเล็กลูกน้อยเรียงเป็นพืด แต่ทุกยอดภูก็ดูหนาแน่นด้วยต้นไม้ไปทั้งหมด แต่พอพวกนายฝรั่งพากันกลับไปอยู่สหรัฐอเมริกา และมีข่าวว่ากำลังจะมีการประกาศเป็นเขตป่าสงวน ก็มี “พวกคน” จากข้างล่าง เอาช้าง เอารถแทรกเตอร์ มาตัดไม้ออกไปเป็นหย่อม ๆ รวมถึงบริเวณบ้านนายฝรั่งที่ลุงคำปันกับพ่อทำงานอยู่ และทำต่อมาจนท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาซื้อไว้ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นด้วย ดังนั้นเมื่อท่านมาปลูกบ้านหลังสงครามโลกผ่านไปแล้ว บริเวณแถวนี้จึงเป็นลานโล่งไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ นอกจากจะมาปลูกบ้านพักไว้แล้ว ก็ยังปลูกลิ้นจี่จนเต็มพื้นที่ เหมือนจะเป็นการเพิ่มผืนป่าให้กับต้นไม้ที่ถูกโค่นล้มไปจนเกือบหมดนั้นด้วย

สมัยก่อนนั้น นอกจากป่าไม้ที่แน่นทึบแล้ว ดอยขุนตานยังชุกชุมไปด้วยสัตว์นานา ตั้งแต่พวกเก้งกวางจนกระทั่งเสือและช้าง แต่ที่ลุงคำปันกลัวมากที่สุดเมื่อตอนเป็นเด็ก ๆ นั้นก็คือหมีควาย ที่ตัวมันโตมาก ขนดำสกปรก ถ้าคลานเข้ามาก็ดูเหมือนควายตัวโต ๆ แต่ถ้ายืนสองขาก็จะสูงกว่าคนกว่าเท่าตัว เขี้ยวมีคราบดำยาวเป็นคืบ และตาแดงเหมือนจุดคบไฟไว้ข้างใน แต่ที่ทุกคนกลัวมันมากก็คือกรงเล็บ ที่ยาวเป็นคืบเช่นกัน แต่คมและแหลมกว่าเขี้ยว เมื่อเวลาที่มันฉีกต้นไม้ ฟังเสียงเหมือนผ่าฟืน คนจึงกลัวว่าถ้าถูกมันฉีกหนัง ก็คงมีเสียงเหมือนถูกสับด้วยขวานกระนั้น อย่างไรก็ตามลุงคำปันก็ยังชอบที่จะอยู่ในป่ามากกว่าอยู่ในบ้าน เพราะความที่กลัวแม่และพี่สาวนั้นมากกว่า

ชาวม้งก็เหมือนกับชาวป่าและพวกชนเผ่าอื่น ๆ ที่มักจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับป่าเขามากมาย ทั้งที่เป็นเรื่องเล่าเพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่กับป่าและเขาได้อย่างเป็นปกติ กับเรื่องเล่าที่สร้างความเชื่อ ที่ส่วนมากก็คือความกลัว เพื่อที่จะให้คนอยู่ในระบบและระเบียบ เช่น การเคารพเชื่อฟังผู้เฒ่าผู้แก่ จนถึงชีวิตในการครองเรือน แต่เรื่องเล่าที่ลุงคำปันจำติดหูและฝังแน่นติดหัวใจก็คือเรื่อง “ปี๋ศาจอี๋แม่” ที่แกได้ฟังมาจากลุงแก่ ๆ คนหนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่กับนายฝรั่งอีกคนที่มีบ้านพักอยู่ใกล้ ๆ กันกับนายฝรั่งที่ลุงคำปันกับพ่อทำงานอยู่

ลุงคนนั้นบอกลุงคำปันว่า นิทานของแกเป็นเรื่องที่เล่ากันมาตั้งแต่ป่าและภูเขานี้เกิดขึ้นใหม่ ๆ สืบทอดกันมาหลายพันปี (ลุงคำปันเคยเอาเรื่องนี้ไปถามพ่อ ก็ได้รับคำตอบว่าเคยได้ฟังเหมือนกัน แต่ไม่ได้คิดอะไรและไม่ได้กลัวอะไร เพราะคนแก่ ๆ ก็ชอบเล่าเรื่องอะไร ๆ ให้เด็ก ๆ กลัวกันเสมอ ๆ) เมื่อหลายพันปีก่อนนั้น “อี๋ป้อ” คือผู้ชาย จะมีจำนวนมากกว่า “อี๋แม่” คือผู้หญิงนี้ ผู้ชายจึงมีอำนาจเหนือผู้หญิงทุกอย่าง และไม่ต้องทำงานหนัก (ที่จริงชาวเขาผู้ชายก็ทำงานน้อยกว่าผู้หญิงอยู่แทบทุกเผ่า แม้แต่ในเผ่าม้งของลุงคำปันนั้นด้วย) พวกผู้หญิงจึงพากันไปหาปู่เจ้า(ในทางภาคเหนือหมายถึงเทวดา)เพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งปู่เจ้าก็ให้พรนั้น จากนั้นพวกผู้หญิงก็ไปบอกให้ผู้ชายทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่ในบ้านจนถึงในป่า ถ้าผู้ชายคนไหนยอมทำก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใครไม่ยอมก็จะต้องมีอันเป็นไปต่าง ๆ ตั้งแต่เป็นบ้าหรือพิการ จนถึงตายหรือหายสาบสูญ ลุงคำปันบอกว่าลุงแก่คนนั้นเล่าได้น่ากลัวมาก โดยเฉพาะวิธีการที่พวกผู้หญิงแก้แค้นผู้ชาย และเรียกผู้หญิงเหล่านั้นว่า “ปี๋ศาจ” ซึ่งก็คือ “ปีศาจ” หรือ ผี นั่นเอง

พอลุงคำปันแตกเนื้อหนุ่ม ก็เริ่มมีความรู้สึกเหมือนผู้ชายวัยนี้โดยทั่วไป คือเมื่ออยู่ใกล้สาว ๆ ก็จะรู้สึกหวิว ๆ ยิ่งได้กลิ่นสบู่หลังอาบน้ำหรือทาแป้งหอม ๆ ก็เหมือนจะร้อนตัววูบวาบ อย่างคนที่กำลังจับไข้ เนื้อตัวตะครั่นตะครอ อยากสัมผัสลูบไล้หญิงสาวคนนั้น แต่พอนึกถึงนิทานของลุงแก่คนนั้น อาการดังกล่าวก็เหมือนจะดับลงในทันที ซึ่งก็เป็นความทุกข์สำหรับลุงคำปันมาก แต่พอเจอผู้หญิงคนไหนก็จะต้องเกิดอารมณ์สองขั้วนี้ขึ้นมาทุกครั้ง ที่แกก็ต้องสะกดใจห้ามมาตั้งแต่วัยรุ่นจนย่างเข้าวัยหนุ่มใหญ่ แม้จะต้องเสียงรำคาญจากคนรอบตัว ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ที่ชอบถามเสมอว่า “ทำไมยังไม่เอาเมีย”

ลุงคำปันกระมิดกระเมี้ยนเล่าให้ผมฟังในวันหนึ่งที่ผมแอบไปขอเลี้ยงเหล้าแก ที่แม้แกจะเมาจนพูดเสียงอ้อแอ้ แกก็ยังไม่ยอมเล่าเรื่องทั้งหมด เพียงแต่อ้อมแอ้มบอกว่า ไปเจอแม่ติ๊บครั้งแรกที่ตลาดหลังสถานีขุนตาน ตอนนั้นบ้านของคุณชาย(ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)ที่เชียงใหม่ กำลังก่อสร้างใกล้จะเสร็จ ลุงคำปันถูกเรียกให้ไปช่วยเป็นคนดูแลสวนที่บ้านหลังใหม่นี้ด้วย และกำลังจะต้องเดินทางไปก่อนสิ้นปี พอไปเจอแม่ติ๊บที่มาขายผัก ก็ลองถามเล่น ๆ ว่า “ไปจ้วยอ้ายปลูกผักได้ก่อ” (ไปช่วยพี่ปลูกผักได้ไหม) แม่ติ๊บก็ไม่ได้ตอบอะไร แกก็เลยถามต่อไปถึงบ้านช่อง ก็เลยรู้ว่าแม่ติ๊บ(ที่จริงน่าเรียกว่าหนู เพราะเพิ่งพ้นความเป็นเด็กหญิงมาได้แค่ปีสองปี แต่คนเหนือไม่มีเรียกนั้น)มีบ้านอยู่บนขุนตานเช่นกัน จากนั้นก็ไปเจอกันอีกทีที่โบสถ์คริสต์บนดอย อาทิตย์ต่อมาก็เจอกันอีก แล้วเพียงครั้งที่สองนี้ก็ได้จับมือแม่ติ๊บ และนั่นแหละแม่ติ๊บก็ไปบอกกับใครต่อใครว่า “ลุงคำปันทำผิดผี”

เหตุเกิดต่อหน้าพระพักตร์ของพระเยซู แล้วจะไม่เรียกว่า “พระผู้เป็นเจ้าประทานเมียให้” ได้อย่างไร