ถือเป็นหนึ่งในมรดกที่ตกทอดมาแต่ครั้งวิกฤติการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของ “โคโรนาไวรัส 2019” หรือ “โควิด-19” เมื่อ 3 – 4 ปีก่อน ทว่า ยังเป็นกระแสมาถึง ณ ปัจจุบัน

สำหรับ “ไฮบริด เวิร์กกิง (Hybrid Working)” ซึ่งก็แปลกันว่า เป็น “การทำงานแบบผสม” บ้าง “การทำงานแบบผสมผสาน” บ้าง “การทำงานแบบลูกผสม” บ้าง รวมไปถึง “การทำงานแบบพันทาง” บ้าง ซึ่งนับเป็นหนึ่งใน “มาตรฐานใหม่” หรือ “บรรทัดฐานใหม่” หรือที่หลายคนเรียกกันจนฮิตติดปาก “นิวนอร์มัล (New Normal)” ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดแรงๆ นั่นเอง

ทั้งนี้ เมื่อโรคร้ายระบาดอย่างรุนแรง จนต้องปิดพื้นที่ หรือล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการอาละวาดของไวรัสร้าย บรรดาหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ก็ต้องมีมาตรการออกมารองรับการทำงานกับสถานการณ์ที่หลายพื้นที่ถูกล็อกดาวน์ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น ก็คือ การจัดรูปแบบวิธีการทำงานของพนักงานองค์กรที่หลากหลาย หรือแบบลูกผสม ที่ผสมผสานระหว่างพนักงานที่ยังคงปฏิบัติงานในสำนักงาน หรือออฟฟิศ และพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ที่บ้าน หรือที่เรียกกันจนฮิตติดปากเช่นกันว่า “เวิร์ก ฟรอม โฮม (Work From Home)” ซึ่งในกรณี “เวิร์ก ฟรอม โฮม” ก็ยังขยายรูปแบบวิธีการทำงานออกไปเป็น “เวิร์ก ฟรอม แอนีแวร์ (Work From Anywhere)” ที่พนักงานสามารถทำงาน ณ ที่ใดก็ได้ ที่สามารถทำงานได้ แก้ไขงานได้ ปรึกษางานต่างๆได้ และส่งงานได้ โดยที่นี้ ณ ปัจจุบันก็หมายถึงมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต อันเป็นช่องทางการทำงานที่สะดวกสุดในยุคนี้ แบบขาดระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตนี้เมื่อไหร่ ก็เสมือนหนึ่งขาดใจกันเมื่อนั้น

โดยรูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน “ไฮบริด เวิร์กกิง” ในลักษณะนี้ ก็สามารถช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายภายในองค์กรได้เป็นอย่างดี และในขณะเดียวกัน การทำงานต่างๆ ขององค์กร ก็ยังสามารถดำเนินการ หรือรัน (Run) ต่อไปได้

พนักงานออฟฟิศรายหนึ่ง แบกจอมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปเป็นอุปกรณ์การทำงานนอกสำนักงาน (Photo : AFP)

รูปแบบการทำงานลูกผสม “ไฮบริด เวิร์กกิง” นอกจากจะใช้แบ่งสัดส่วนพนักงานที่ทำในออฟฟิศ กับพนักงานที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศก็ได้แล้ว ก็ยังใช้แบ่งผลัดการทำงานระหว่างออฟฟิศกับการทำงานที่บ้าน หรือทำงานในที่ใดๆ ก็ได้อีกด้วย เช่น กำหนดให้พนักงานเข้าออฟฟิศ 3 วัน และให้ทำงานที่บ้าน หรือที่ใดก็ได้ อีก 2 วัน ในแต่ละสัปดาห์ เป็นต้น ตามแต่หน่วยงาน หรือองค์กรนั้น จะเห็นสมควร

นอกจากนี้ การทำงานในรูปแบบผสมผสาน หรือ “ไฮบริด เวิร์กกิง” ก็ยังมีข้อดีอื่นๆ อีก เช่น ทำให้พนักงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น พนักงานที่มีครอบครัวก็สามารถอยู่กับครอบครัวได้มากขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทสำหรับค่าใช้จ่ายในบางประเภท เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าขนส่งเดินทางของพนักงานสำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีบริการด้านการขนส่งเดินทางให้แก่พนักงานมาทำงานในหน่วยงานหรือองค์กร เป็นต้น ข้อดีอีกประการ

พนักงานออฟฟิศที่มีครอบครัว สามารถอยู่กับครอบครัวได้มากขึ้น ในระหว่างการทำงานที่บ้าน แทนการทำงานในสำนักงาน หรือออฟฟิศ (Photo : AFP)

อย่างไรก็ตาม การทำงานรูปแบบ “ไฮบริด เวิร์กกิง” ผสมผสานนี้ ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน เช่น ทำให้หน่วยงานหรือองค์กรต้องลงทุนด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น เพื่อรองรับการทำงานที่ใช้ระบบอินเทอร์เน็ต หรือออนไลน์ รวมถึงปัญหาเรื่องการสื่อสาร การปรึกษาหารือระหว่างทีมงาน ก็ทำได้น้อยลง ซึ่งแม้จะพบปะพูดคุยผ่านทางออนไลน์ได้ แต่การพบปะหารือแบบเห็นตัวกันเป็นๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

โดยเมื่อกล่าวถึงกระแสนิยมของ “ไฮบริด เวิร์กกิง” ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงนั้น จากการเก็บรวบสถิติตัวเลขของ “ซิปเปีย (Zippia)” ธุรกิจที่ดูแลและศึกษาการทำงานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ได้ระบุถึงผลการศึกษาติดตามในสหรัฐฯ ช่วงที่โควิด – 19 กำลังอาละวาดหนักๆ คือ ในระหว่างปี 2020 – 2022 (พ.ศ. 2563 - 2566) ว่า

ร้อยละ 74 ของบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั่วไปในสหรัฐฯ หันมาใช้รูปแบบการทำงานแบบผสม หรือ “ไฮบริด เวิร์กกิง” กันมากขึ้น

ร้อยละ 44 ของพนักงานในสหรัฐฯ ล้วนตอบออกมาเป็นเสียงเดียวชื่นชอบต่อรูปแบบการทำงาน “ไฮบริด เวิร์กกิง” มากกว่าที่จะทำงานแบบเข้าออฟฟิศแต่เพียงอย่างเดียว

ร้อยละ 63 ของกลุ่มบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูง ก็เลือกใช้รูปแบบการทำงาน “ไฮบริด เวิร์กกิง” ยิ่งในรูปแบบการทำงานที่ให้พนักงานสามารถทำงานที่ใดก็ได้ ปรากฏว่า บริษัทกลุ่มนี้ก็ชื่นชอบเป็นอย่างมาก

ร้อยละ 55 ของพนักงาน แสดงความประสงค์ว่า ต้องการทำงานในออฟฟิศ 3 วัน และทำงานนอกออฟฟิศ 2 วัน ในแต่ละสัปดาห์

อย่างไรก็ดี ภายหลังสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงคลี่คลาย ปรากฏว่า เกิดกระแสถกเถียง ระหว่างพนักงานกับบรรดาผู้บริหารของหน่วยงานหรือองค์กร ระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ ถึงเรื่องที่จะยกเลิกรูปแบบการทำงานแบผสม หรือไฮบริดเวิร์กกิง ได้แล้วหรือไม่ พร้อมกับให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศกันอย่างเต็มรูปแบบ เหมือนเมื่อช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโคิด-19

ถึงขนาดมีการสำรวจ สอบถามความคิดเห็นบรรดาซีอีโอของบริษัทต่างๆ นับร้อยแห่งในรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ กันเลยทีเดียวเมื่อช่วงเดือนมกราคมนี้ ผลปรากฏว่า

152 คนจากจำนวนทั้งสิ้น 158 คน ของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ ของบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ มีความคิดเห็น และมี ความยินยอม ที่จะให้พนักงานของบริษัท สามารถทำงานในรูปแบบ “ไฮบริด เวิร์กกิง” ได้ คือ หมายความว่า พนักงานของบริษัทไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน แต่ให้สามาถทำงานที่บ้าน หรือ ณ ที่แห่งใดก็ได้ โดยสามารถทำงาน รับคำสั่งการทำงาน แก้ไขงาน และส่งงานได้ก็แล้วกัน

โดยมีซีอีโอเพียง 6 คนเท่านั้น ที่มีความคิดเห็นว่า พนักงานต้องเข้าออฟฟิศทำงานทุกวัน

ในการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอเหล่านี้ ยังพบด้วยว่า ร้อยละ 27 ก็ตอบว่า พวกเขาให้ความสำคัญของการคงนโยบายการใช้รูปแบบการทำงาน “ไฮบริด เวิร์กกิง” อยู่ต่อไป แม้ว่าวิกฤติการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม เพราะช่วยยืดหยุ่นการทำงานของพนักงานได้มากขึ้น และบริษัท ก็อาจจะสามารถดึงคนเก่งๆ มาร่วมทำงานโดยที่เขาอยู่ห่างต่างรัฐต่างเมืองกัน ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้