จากนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ดำเนินการขับเคลื่อนและพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลใน 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากกระบวนการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ท้องถิ่น อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นำไปสู่ความอยู่ดีกินดีของประชาชนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวนั้นได้อย่างยั่งยืน ล่าสุด   3 แหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทยในพื้นที่ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย พื้นที่คลองท่อม จังหวัดกระบี่ ได้รับการยอมรับระดับสากลอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก

ขับเคลื่อนดึงรายได้จากต่างชาติ

ในเรื่องนี้ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงการยกระดับพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสู่สากล ขับเคลื่อนดึงรายได้จากต่างชาติกระจายสู่พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ว่า เป็นภารกิจหลักขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรือ อพท.ที่ดำเนินงานอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยการพัฒนาดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ทั้งหน่วยงานภายในกระทรวง หน่วยงานภาครัฐทั้งจากส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น ภาคการศึกษา และชุมชน ที่มีบทบาทในการพัฒนา และบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยตรง จึงทำให้ความสำเร็จของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน พื้นที่เมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย พื้นที่คลองท่อม จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็น 3 แหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทย ได้รับรางวัล Green Destinations Top 100 Stories 2023

ซึ่งความสำเร็จจากการปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นต้นแบบในการยกระดับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในการร่วมมือกันพัฒนาทรัพยากร และบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงจะได้เห็นถึงกระบวนการบูรณาการความร่วมมือในแต่ละพื้นที่ได้อย่างครบวงจร จากหน่วยงานภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือ อพท.เป็นหน่วยงานต้นน้ำ ในการบริหารจัดการตามบริบทของแต่ละพื้นที่  และสอดคล้องกับการรับรองมาตรฐานของหน่วยงานกลางน้ำอย่าง กรมการท่องเที่ยว หน่วยงานด้านการตลาด และประชาสัมพันธ์ คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมายของนักท่องเที่ยวคุณภาพนำรายได้เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศเป็นอย่างดี

พัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยว

ด้าน นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. มีแผนงานและกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานในระดับสากล โดยนำหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria หรือ GSTC) มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษและพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ โดยดำเนินการร่วมกับจังหวัด และภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษฯ ทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาให้แหล่งท่องเที่ยวมีคุณภาพ ตามนโยบาย Quality Destination ของกระทรวง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดคุณภาพสูง รองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ดังนั้นตั้งแต่ปี 2563 ทาง อพท.จึงได้ผลักดันแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษฯ จนได้รับการจัดลำดับให้เป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลกรางวัล Green Destinations Top 100 Stories มาแล้ว จำนวน   4 แห่ง ได้แก่ ตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย และ ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย และเกาะหมาก จังหวัดตราด ซึ่งดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งในปี 2566 ได้เสนอผลงาน Good Practice ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน ในประเด็นการจัดการขยะท่องเที่ยวด้วยกระบวนการทางสังคมของเมืองเก่าน่าน พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย ในประเด็นการอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม กรณีสัตว์รุกรานในเมืองเก่าสุโขทัย และพื้นที่คลองท่อม จังหวัดกระบี่ ในประเด็นการจัดการป่าต้นน้ำที่ควรได้รับการดูแล รักษาและปลูกป่าทดแทนโดยชุมชนควบคู่กับการบริหารจัดการการท่องเที่ยว เพื่อปกป้องรักษาฐานทรัพยากรหลักด้านการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน จน 3 แหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทยดังกล่าว ได้รับรางวัล Green Destinations Top 100 Stories 2023

 

ซึ่งจากนี้ อพท. ได้เตรียมขยายผลการดำเนินงานการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ไปสู่มาตรฐานระดับสากล ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรการจัดการการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ โดยในปี 2567 อพท. จะดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์ GSTC อีกจำนวน 7 แหล่ง ในจังหวัดตราด ชลบุรี สุโขทัย เลย น่าน สุพรรณบุรี และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อยื่นประกวดรางวัล Green Destinations Top 100 Stories ในปีต่อไป

เดินหน้าขับเคลื่อนด้านการตลาด

ขณะที่นางสาว ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  กล่าวว่า การทำงานแบ่งออกเป็นการส่งเสริมภายนอก คือ จะรับไม้ต่อจากการที่อพท.ผลักดันพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับนระดับสากลอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก นำเข้าสู่เวทีการตลาดในระดับสากล อย่างงานโรดโชว์ International Tourismus Borse  (ITB) ที่ กรุงเบอร์ลิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่จะถึงในเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงงานอื่นๆ โอกาสต่อไป เพื่อให้ผู้ค้าที่เข้าร่วมในงานได้รับรู้ถึงสินค้าใหม่ๆ ที่ประเทศไทยได้ยกระดับ และพัฒนาจนได้รับการยอมรับในระดับสากล

ส่วนการส่งเสริมภายในประเทศจะมอบหมายเป็นเชิงนโยบายในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวหลัก สู่แหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ซึ่งเป็นพันธกิจของ ททท.ผนวกกับแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกของอพท. เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมายของนักท่องเที่ยวคุณภาพนำรายได้เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศเป็นอย่างดีตามนโยบายของกระทรวง