ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ที่ตั้งของปากีสถานกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการต่อสู้กันระหว่างตะวันตกกับตะวันออก

ปากีสถานตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดียประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีพลเมืองเป็นอันดับ 2 และ 1 ของโลก

ปากีสถานอยู่ติดกับอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นประตูไปสู่ยูเรเซีย หรือ เกาะโลก

ปากีสถานอยู่ติดกับอิหร่าน ซึ่งเป็นมหาอำนาจขนาดกลางและ มีบทบาทสำคัญในตะวันออกกลาง ตลอดจนการท้าทายต่ออำนาจของตะวันตก

อนึ่งปากีสถานเคยเป็นเมืองขึ้นของบริเตนใหญ่ (UK) ซึ่งเป็นคู่หูกับสหรัฐฯ อังกฤษจึงวางเครือข่ายของการข่าวและการจารกรรมที่ปากีสถานมาอย่างยาวนาน และค่อนข้างมั่นคง

ดังนั้นตะวันตกจึงใช้ปากีสถานเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินการข่าว งานจารกรรมของทั้ง MI-5 และ MI-6 ร่วมกับ CIA และพันธมิตรอิสราเอล คือ มอสซาด หน่วยจารกรรมและการข่าวของอิสราเอล

ประการแรกใช้ปากีสถานเป็นตัวสร้างอุปสรรคในการขัดขวางโครงการของ BRI ของจีน

ประการต่อมาใช้ปากีสถานเป็นตัวกดดันอินเดีย ในฐานะคู่อริถาวร แถมปากีสถานยังมีอาวุธนิวเคลียร์เท่าเทียมกับอินเดีย

ประการที่ 3 ใช้ปากีสถานเป็นฐานการก่อการร้ายและการข่าวทางประตูหลังของอิหร่าน เช่น ขบวนการกองทัพเพื่อความยุติธรรม (Army of Justice)  ที่อิหร่านพึ่งจะบุกข้ามแดนมาโจมตีทางอากาศยับเยิน เพราะองค์กรนี้ได้เป็นตัวการวางระเบิดที่เมืองเคอร์มาน ในโอกาสที่มีคนมาชุมนุม รำลึกถึงนายพลกอเซ็ม สุไลมานี ที่เสียชีวิตจากฝีมือ สหรัฐฯ และ มอสซาดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทำให้มีผู้คนล้มตายกว่าร้อยบาดเจ็บอีกหลายร้อย และมีแผนระเบิดอีกหลายเมืองใหญ่ในอิหร่าน

ประการที่สี่ใช้ปากีสถานคอยบ่อนทำลายอัฟกานิสถาน

ประการสุดท้าย ตะวันตกต้องการตอกลิ่มโดยการสนับสนุนขบวนการของชาวซิกข์ ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ตั้งรัฐคาลิสสถาน ซึ่งมีพื้นที่อยู่บนแคว้นปัญจาบ ทั้งฝั่งปากีสถานและอินเดีย โดยมีพื้นที่ฝั่งปากีสถานประมาณ 60% ฝั่งอินเดียประมาณ 40% ซึ่งจะกลายเป็นการทำให้เกิดการประทะกันทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับนักแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ หรือ แม้แต่ปากีสถานกับอินเดีย เพราะระแวงกัน นอกจากกรณีขัดแย้งวเรื่อง แคว้นแคชเมียร์

ผลพวงเหล่านี้เป็นฝีมือของบริเตนใหญ่ (UK) ซึ่งวางกับดักไว้ด้วยการวางแผนแบ่งพื้นที่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

ในขณะที่เกิดความขัดแย้งทางการทูตระหว่างอินเดียกับแคนาดา ในกรณีที่กล่าวหาว่าอินเดียส่งคนไปลอบสังหารบุคคลสำคัญชาวซิกข์ ที่อยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน

แต่แผนของตะวันตกจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสามารถครอบงำการเมืองของปากีสถานได้

วันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ ปากีสถานจะมีการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งจะกำหนดทิศทางการเมืองของปากีสถาน ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอิมรอนข่าน ที่มีจีน อิหร่าน และมีรัสเซียหนุนแบบลับๆ กับกลุ่มของชารีฟ-นายกฯ และชาดารี อดีตประธานาธิบดีที่ 11 ของปากีสถาน สามีม่ายของอดีตนายกฯเบนาซีร์บุทโต แต่ปัญหาที่เป็นเงื่อนงำคือ ชาดารี เป็นชาวบารูช ซึ่งชาวบารูชก็คือกลุ่มชนที่อยู่ชายแดนระหว่างอิหร่าน-ปากีสถาน และต้องการแบ่งแยกดินแดนตั้งเป็นรัฐอิสระ ดังนั้นชาดารี และพวกที่อยู่ในอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถานก็คือ ผู้นำลับๆของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง

และกลุ่มชารีฟ-ชาดารี ก็เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ บริเตนใหญ่ (UK) และอิสราเอล แล้วทำไมอิสราเอลต้องมาเกี่ยวเรื่องนี้ เพราะอิสราเอลจ้องก่อการร้ายโจมตีอิหร่านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ดังนั้นการปะทะกันหรือจะเรียกว่าการผลัดกันโจมตีข้ามแดนระหว่างอิหร่านและปากีสถาน จึงเป็นเรื่องน้ำจิ้ม เพราะผลัดกันโจมตีกลุ่มก่อการร้าย และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ของเผ่าบารูชฝั่งปากีสถาน  และ บารูช-ซีสถานฝั่งอิหร่าน ก็นับว่าสมประโยชน์กันและกัน แม้กลุ่มอีลิตของชาดารีบางส่วนจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่อยากขัดใจกับกลุ่มอำนาจอื่นในอิสลามาบัดก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มใหญ่ๆคือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และทหาร

ถ้ากลุ่มชารีฟ-ชาดารี ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลก็พอบอกทิศทางได้ว่า อิหร่านจะถูกโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายสังกัดเมกา อังกฤษ และอิสราเอล อย่างกลุ่มกองทัพเพื่อความยุติธรรม (ยัยอัลชุส)

ในขณะที่อิหร่านก็กำลังเผชิญหน้ากับสหรัฐฯและอังกฤษในตะวันออกกลาง ด้วยกองกำลังติดอาวุธ แต่สหรัฐฯกำลังพยายามชี้เป้าว่าเป็นฝีมืออิหร่านในการโจมตีฐานทัพและสถานกงสุลทั้งในอิรัก ซีเรีย และจอร์แดน ที่ถูกโจมตีจนบาดเจ็บล้มตาย อพยพหนีกันอลหม่าน โดยสหรัฐฯกำลังส่งคำขู่ว่าจะโจมตีอิหร่าน หากไม่ยอมถอยจากเส้นแดง แต่อิหร่านก็ตอบโต้ว่าจะใช้พลังทั้งมวลโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรหากตนเองถูกโจมตี

การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ทำให้ทั้งอินเดียและอิหร่าน ต่างให้ความสนใจกับอัฟกานิสถาน ที่มีดินแดนติดอินเดีย อิหร่าน และปากีสถาน และเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ ที่เข้ามายึดครองอยู่ 20 ปี และเข่นฆ่าผู้คนล้มตาย ทำลายบ้านเมืองยับเยิน แถมยึดเงินทุนสำรองเงินตราไปอีก อัฟกานิสถาน จึงจะกลายเป็นหมากอีกตัวในสงครามตะวันตก ตะวันออก

นอกจากนี้อิหร่าน และตุรเคียยังขยับเดินด้วยการจับมือกันโจมตีชาวเคิร์ด ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเคอร์ดิสถาน ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ

แต่สงครามไม่หยุดแค่นั้น ขณะที่เกิดความขัดแย้งในปากีสถาน แต่มันลุกลามลงมาถึงเมียนมา ใกล้บ้านเราแล้ว

เราจึงเห็นการดำเนินกุศโลบายของพันธมิตร 3 พี่น้องทางเหนือ คือ อาระกัน โกก้าง และปะหล่อง ยุติการโจมตีทางเหนือชั่วคราว แต่ขยับมา เปิดฉากการรบใหญ่และรุนแรงทางตะวันตกของรัฐยะไข่

โดยกองทัพอาระกันเคลื่อนกำลังลงมายังรัฐยะไข่ ที่มีพื้นที่ติดทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล ซึ่งสะดวกในการขนส่งอาวุธสนับสนุน จึงมีการสู้รบที่รุนแรงในพื้นที่ราชดาวน์ และรามรี ที่จีน กำลังจะสร้างท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษบกิจพิเศษ

โดยก่อนหน้านี้กองกำลังอาระกันได้เข้าควบคุม ปาเลตวา ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการขนส่งบนเส้นทางกะลาดันของอินเดีย และสอดรับกับการคุกคามท่าเรือน้ำลึกของปากีสถานกวาดาที่จีนเช่าปากีสถาน ไว้ 43 ปี ก็จะไม่ปลอดภัยตามมา หากการเมืองปากีสถานหันไปทางตะวันตก

กล่าวโดยสรุปสงครามใกล้บ้านเราทุกที และในบางส่วนตะวันตกก็ใช้กองกำลังแบ่งแยกดินแดนเป็นเครื่องมือในการสร้างความปั่นป่วนกับประเทศพันธมิตรตะวันออก หรือประกาศที่เอาใจออกห่าง...อันตราย...