กรมการแพทย์ นำทัพ 3 โรงพยาบาลในเครือ จับมือดุริยางคศิลป์ นำดนตรีบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ดูแลผู้สูงอายุ ชะลอภาวะสมองเสื่อม ช่วยผู้ป่วยมะเร็ง หวังยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ  

แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ในครั้งนี้ ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งมีดนตรี เครื่องดนตรี นักดนตรี และงานนักวิจัย ส่วนกรมการแพทย์มีแพทย์ บุคลากรสุขภาพ นักฟื้นฟู มีผู้ป่วย โดยนำ 2 ส่วนนี้มาหนุนเสริมให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำดนตรีมาดูแลผู้สูงอายุและฟื้นฟูสุขภาพ ปกติจะเข้าใจว่าดนตรีช่วยแค่ในเรื่องผ่อนคลาย สนุกสนาน แต่มีงานวิจัยมานานว่า ดนตรีมีความหมายต่อสุขภาพ การเรียนรู้ และการเยียวยาร่างกายจิตใจ อย่างงานวิจัยในเด็กที่ว่าจะส่งเสริมให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น 

นอกจากนี้สามารถนำดนตรีมาใช้ฟื้นฟูสุขภาพกายได้ เช่น การทรงตัว หากฝึกการทรงตัวโดยเดินเฉยๆ กับมีดนตรีบางประเภทมาเกี่ยวข้องให้ผลลัพธ์ไม่เท่ากัน เพราะเมื่อมีดนตรีมาเกี่ยวข้องพอฟังแล้วจะมีปฏิกิริยาหรือจูงใจในการขยับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือการได้ยินก็เป็นการเรียนรู้จังหวะที่เกี่ยวกับสมอง มีผลต่อเรื่องความจำ สมาธิ  ซึ่งมีผลทางสุขภาพจิตด้วย และดนตรี ยังช่วยรักษาหรือเสริมกระบวนการรักษาบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยสารเสพติด ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาได้ หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในอนาคตจะเชิญกรมสุขภาพจิตมาร่วมด้วย ที่สำคัญคือจะร่วมมือกับทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิจัยดนตรีแบบไทยๆ ที่จะรองรับศาสตร์ของดนตรีบำบัด 

นายณรงค์กล่าวว่า การใช้ดนตรีเพิ่มสุขภาวะที่ดีนั้น ปกติคนใช้ดนตรีในแง่สันทนาการ แต่จริงๆ จะมีประโยชน์มากกว่านั้น ถ้าเอามาประกอบกับทางการแพทย์ ดูแลสูงอายุหรือผู้ป่วยจะเป็นประโยชน์มากขึ้น จึงมาร่วมมือกันในแง่ดนตรีบำบัด ซึ่งทำได้ทั้งการบำบัดและฟื้นฟู เช่น อุบัติเหตุทำกายภาพบำบัดอย่างเดียวอาจใช้เวลานาน การมีดนตรีด้วยอาจย่อเวลาฟื้นฟูได้ 50% เพราะว่าร่างกายพอได้ยินเสียงดนตรีจะทำให้อยากขยับตรงจังหวะ เลยบังคับกลายๆ ให้เคลื่อนไหวตัวเอง ก็ทำให้กลับมาฟื้นฟูเร็วขึ้น

สำหรับการพัฒนาบุคลากร สถาบันภายใต้สังกัดกรมการแพทย์จะเป็นผู้ฝึกประสบการณ์ทางคลินิกให้แก่นักศึกษาดนตรีบำบัด ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นผู้นำทางด้านการให้บริการดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน ทำให้ นักศึกษาสาขาดนตรีบำบัดได้มีสถานที่ฝึกปฏิบัติงานที่หลากหลาย ได้ร่วมงานกับทีมสหวิชาชีพทางด้านการแพทย์ที่มีประสบการณ์ เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านดนตรีบำบัดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ด้านสุขภาพของประชาชน รวมถึงการร่วมกันพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมทางดนตรีเพื่อสุขภาพที่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย

 
 พญ.บุษกร กล่าวถึงการคัดเลือกผู้ป่วยที่จะใช้ดนตรีบำบัด  ว่า มีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ผู้สูงอายุตรวจประเมินรายบุคคล การประชุมทีมผู้ให้การรักษา ทั้งแพทย์ แพทย์อายุรกรรม แพทย์ออร์โธปิดิกส์ เภสัชกร นักจิตวิทยา นักโภชนาการ เพื่อประเมินสิ่งใดมีภาวะบกพร่อง จะแก้ประเด็นจุดนั้น และให้โปรแกรมเฉพาะราย อาคารนี้สามารถตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพและเสริมส่วนที่พร่อง ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งที่เตรียมการไว้ โดยเบื้องต้นได้วางไว้  5 ปี ส่วนการเปิดให้บริการจะดูตามความเหมาะสม อาจจะสัปดาห์ละครั้งเพื่อให้เตรียมผู้สูงอายุที่พร้อมและเหมาะสมมารับบริการโดยไม่เกิดความแออัด