สศร.เปิดรับสมัครนักศึกษาปริญญาตรี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2-4 สาขาวิชาเรขศิลป์ ออกแบบนิเทศศิลป์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ นฤมิตศิลป์ ครุศิลป์ หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทีมละ 2 คน เข้าร่วมชนช้างกราฟิกปีที่ 9 ลงพื้นที่พัฒนาชุมชน จ.น่าน

นายประสพ เรียงเงิน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบรุ่นใหม่ รายการชนช้างกราฟิก เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ส่งเสริมความนิยมไทยผ่านภูมิปัญญา โดยร่วมมือกับผู้ทรงคุณวุฒิและบุคคลที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ หรือด้านเรขศิลป์ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ แบบอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานออกแบบเรขศิลป์สู่ศิลปินรุ่นใหม่โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษามุ่งให้เกิดการพัฒนา ทักษะ ประสบการณ์ด้านการออกแบบอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งส่งเสริมความสามารถนำองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาและต่อยอดความคิด ในการแปลงต้นทุนทางวัฒนธรรมในชุมชนต่างๆ ทั้งภูมิปัญญา สินค้าและบริการ ที่มีอยู่ในทุกๆ ด้าน ให้กลายเป็นสินทรัพย์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว สร้างรายได้สู่ชุมชน สอดคล้องกับแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงกับวิถีวัฒนธรรม

ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวอีกว่า ใน 2567 ได้เปิดรับสมัครนิสิตหรือนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2-4 สาขาวิชาเรขศิลป์ ออกแบบนิเทศศิลป์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ นฤมิตศิลป์ ครุศิลป์ หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมโครงการเป็นทีมๆ ละ 2 คน รวมทั้งจะได้เข้าร่วมในรายการชนช้างกราฟิก ปีที่ 9 รูปแบบการแข่งขันทักษะด้านศิลปะร่วมสมัย สาขาเรขศิลป์ โดยผู้ร่วมการแข่งขันจะได้รับการอบรมเพิ่มพูนทักษะวิชาการ พัฒนาการออกแบบเรขศิลป์ และลงพื้นที่พัฒนาชุมชนจ.น่าน ในการศึกษาถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สินค้าและบริการของแต่ละชุมชน และสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบที่จะช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์และมูลค่าเพิ่มกับให้สินค้าและบริการ ซึ่งชุมชนสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 ก.พ.นี้ ดูรายละเอียดได้ที่ www.ocac.go.th/wp-content/uploads/2024/02

“ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบรุ่นใหม่หลายปีที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยนักออกแบบเข้าไปช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ด้านการออกแบบภาพลักษณ์ของชุมชนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการขายของที่ระลึก ด้วยการใช้งานออกแบบมาช่วยพัฒนาสินค้าชุมชนได้อย่างมาก นอกจากนี้ผู้ผ่านการอบรมทุกคน มีอาชีพ มีรายได้ระหว่างการเรียน และหน่วยงานต่างๆ ให้โควตาเข้าทำงานหลังเรียนจบ” ผอ.สศร. กล่าว