เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์พัฒนาพฤตินิสัยจังหวัดปัตตานี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสร้างการรับรู้ DRIP Model กรมคุมประพฤติ ครั้งที่ 2 อันเป็นการสร้างการรับรู้ถึงบทบาทภารกิจของกรมคุมประพฤติในการแก้ไขฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระยะยาว 60 วัน และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และอาสาสมัครคุมประพฤติในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  โดยนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ มอบหมายให้ นางนุสรา วงษ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ และคณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ ร่วมให้การต้อนรับ

    พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า บุคคลทุกคนมีเกียรติแต่อาจก้าวพลาดในชีวิต ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ แต่ด้วยความตั้งใจของทุกคนในสถานที่แห่งนี้ ซึ่งขอเรียกว่าผู้ป่วยที่ขอเข้ารับการบำบัดรักษาได้เดินสวนสนาม ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายของการมีโอกาสได้ชมการสวนสนาม โดยเฉพาะของทหารที่ต้องฝึกฝนและแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ

“ทุกท่านมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี วันนี้เรามีค่ายแห่งนี้ ด้วยความคิดที่ว่า เมื่อผู้เสพกลับใจและตั้งใจกลับคืนสู่สังคม ฉะนั้น คนเหล่านี้จึงเป็นผู้ป่วย คือคนที่ต้องได้รับบำบัดการรักษา ซึ่งผมไม่ต้องการให้ทุกท่านสูญเสียเวลาเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แต่อยากให้เป็นเวลาของการบ่มเพาะศักยภาพ พัฒนาตนเอง” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสังคมไทย เราเห็นความเหลื่อมล้ำ คนบางกลุ่มร่ำรวย มีความสุข แต่บางกลุ่มยากจน มีรายได้น้อย ไม่มีอาหารกิน จึงมีเสียงเรียกร้องความเสมอภาค ความเท่าเทียม ทุกท่านในที่นี้ ได้มีเวลาอยู่ในสถานที่แห่งนี้เป็นเวลา 60 วัน ซึ่งทุกคนจะได้รับความเสมอภาพ อาจเป็นความเสมอภาคที่เกิดมาจากจิตใจที่เข้มแข็ง ต้องการกลับคืนสู่สังคมด้วยความมีคุณภาพ และผมฝากความหวังไว้กับกรมคุมประพฤติในโครงการนี้ แต่ไม่ว่าโครงการจะดีเพียง ยังต้องขึ้นอยู่กับใจของทุกท่าน การเอาชนะใจเป็นเรื่องยาก ทุกคนตรงนี้กำลังจะเอาชนะใจตัวเอง ที่เกิดจากสารเสพติด และไม่ได้เลิกยาแบบธรรมดา แต่ยังสามารถกลับไปยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ” 

สำหรับการจัดงานในวันนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 กิจกรรมการเปิดค่ายสานพลังใจ ที่มีพิธีสวนสนาม และส่วนที่ 2 มีการเยี่ยมชมบูธงานวิชาการ บูธวิชาชีพ บูธส่งเสริมอาชีพของหน่วยงานต่างๆ และกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลักสูตร ค่ายสานพลังใจ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook live เพื่อให้สำนักงานคุมประพฤติ ภาคีเครือข่ายและประชาชนทั่วประเทศ ได้รับชมพร้อมกันด้วย



สืบเนื่องจากนโยบายของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลา 1 ปี กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุมประพฤติเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ขับเคลื่อนภารกิจในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดคดียาเสพติด อีกทั้งยังติดตามสงเคราะห์ภายหลังพ้นการคุมความประพฤติ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 400,000 ราย กรมคุมประพฤติจึงได้ออกแบบกระบวนการพัฒนาผู้ถูกคุมความประพฤติอย่างเป็นระบบ อย่าง DRIP Model (Drug Rehab Integration of Partners in Probation Services) ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน สังคมและภาคีเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งพัฒนาโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูอีก 6 โปรแกรมตามความเหมาะสมกับผลการจำแนกความเสี่ยงการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 

สำหรับค่ายสานพลังใจ เป็นค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระยะยาว 60 วัน โดยกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ตั้งเป้าหมายให้ผู้ผ่าน DRIP Model ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ เพื่อลดการกระทำความผิดซ้ำน้อยกว่าร้อยละ 6 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และสร้างสังคมที่ปลอดภัย ทั้งนี้ การจัดโครงการจัดงานสร้างการรับรู้ “DRIP Model” กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 2 เป็นการสร้างการรับรู้แนวทางบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล แก้ไขฟื้นฟู ช่วยเหลือ และสงเคราะห์ ตามสภาพปัญหาความต้องการ เพื่อให้ผู้เสพยาเสพติดมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ