สร้างความฮือฮาโลกออนไลน์ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก Lek Dasada ได้แชร์คลิปวาฬบรูด้าขณะช่วยกันต้อนฝูงปลา ที่หมู่เกาะอ่างทอง เกาะสมุย  เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา

ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่โพสต์ข้อความระบุว่า "การรวมฝูงหาปลาของวาฬบรูด้าที่หมู่เกาะอ่างทอง น่าตื่นตาเป็นยิ่งนัก !

คลิปจากคุณเล็ก ไกด์ในพื้นที่ แสดงภาพที่เราไม่ค่อยเห็นกันง่ายๆ แม้ว่าบางครั้งอาจเจอวาฬ 2-3 ตัวมาช่วยกันไล่ปลา แต่เยอะๆ ชัดๆ แบบนี้หายากครับ

วาฬบรูด้าอยู่ตามลำพัง ไม่รวมฝูงเหมือนโลมา (ยกเว้นแม่/ลูก) แต่บางครั้งร่วมมือกัน ช่วยกันต้อนปลามารวมตัว ก่อนเข้ากินปลาพร้อมกัน

พฤติกรรมแบบนี้มีรายงานจากวาฬชนิดอื่น เช่น วาฬหลังค่อม ในบางพื้นที่ เช่น อลาสก้า เป็นที่ตื่นเต้นของคนที่ได้เห็น ปรากฏอยู่ในสารคดีหลายเรื่อง

เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของวาฬบางพื้นที่ ไม่ใช่หมายความว่าวาฬชนิดเดียวกันทำได้แบบนี้ทุกที่ จะมีเพียงกลุ่มเฉพาะในบางที่เท่านั้น

เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกัน อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน เรียนรู้กันมาจากรุ่นสู่รุ่น

พฤติกรรมเฉพาะของวาฬแต่ละกลุ่ม เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลพยายามศึกษา แต่ส่วนใหญ่เฉพาะในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว

สำหรับวาฬบรูด้า เราแทบไม่มีรายงานการรวมฝูงหาปลาพร้อมกันหลายตัว คลิปของคุณเล็กจึงสุดยอดมากๆ มีประโยชน์จริงๆ

การค้นพบครั้งนี้จึงยืนยันว่าวาฬบรูด้าในอ่าวไทยพัฒนาเทคนิคเฉพาะถิ่นได้อย่างดีเยี่ยม

นอกเหนือจากท่า “เสยปลา” ที่โด่งดังในหมู่นักดูวาฬโลก วาฬอ่าวไทยยังมีเซอร์ไพรส์อีกหลายท่า

ผมไม่คิดว่าเราจะเจอพฤติกรรมแบบนี้ง่ายๆ ในวาฬบรูด้าบริเวณอื่นหรือที่อื่นในโลก แต่นั่นจำเป็นต้องศึกษาต่อไป

การศึกษาวาฬในอ่าวไทย ทำกันอย่างเป็นระบบขั้นตอน ต่อเนื่องยาวนาน พิสูจน์แล้วว่ามีคุณค่ามหาศาล ไม่ใช่แค่ต่อการอนุรักษ์

อย่าลืมว่า 20-30 ปีก่อน เราไม่มีทัวร์ดูวาฬสักทัวร์ ไม่มีเรือดูวาฬสักลำ ไม่มีรายได้สักบาทจากกิจกรรมท่องเที่ยวประเภทนี้

แต่ตอนนี้เรามี และมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้มีรากฐานมาจากการศึกษาวิจัย

จึงบอกได้เต็มปากว่า งานศึกษาวาฬไทยไม่ได้ขึ้นหิ้ง แต่เป็นการทำให้เกิด green tourism ที่แท้จริง ยังวิน/วินคู่ไปกับการส่งเสริมให้คนรักทะเล

ที่สำคัญ ข้อมูลจำนวนมากมาจากคนรักทะเลทั่วไป ทั้งคลิปทั้งภาพที่แชร์กัน ทำให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ตลอด

หากเราจริงจังในเรื่องนี้ และจริงจังต่อไป เรายังไปต่อได้อีกไกล whale watching ในโลกแต่ละปีสร้างมูลค่าหลายแสนล้านบาท

เพราะทะเลไทยเจ๋ง วาฬไทยสุดยอด เราจึงมีโอกาสดียิ่งในการเข้าไปแชร์มาร์เก็ตส่วนนี้

ก็ขึ้นกับว่าจะมีการผลักดันต่ออย่างจริงจังไหม ผสมผสานการศึกษา/การอนุรักษ์/ธุรกิจ/การกระจายรายได้ มองให้ไกล อ่านให้ขาด

จะพยายามต่อไป แต่หากอยากก้าวกระโดด เราต้องลงทุนลงแรงมากกว่านี้

วาฬไทยสุดยอด ก็เหลือแค่รอว่าระดับนโยบายไทยจะสุดยอดเช่นกันบ้างไหม

ยินดีกับวาฬบรูด้ากลุ่มนี้ สามัคคีคือพลัง กินปลากันอิ่มหนำเลยครับ

อ้ำๆๆๆ"

 

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat / เฟซบุ๊ก Lek Dasada