สภาฯเดือด! ถกร่างแก้ประมงฯเป็นเหตุ “ชาดา” กาวใจ ครม.ขอรับกลับไปก่อนส่งกลับสภาฯ22 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร  คนที่1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณา ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ.... ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับคณะเป็นผู้เสนอ และร่างพ.ร.บ.ในทำนองเดียวกันอีก รวมเป็น 7 ฉบับ  โดยนายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย นำเสนอร่างพ.ร.บ.ว่า ปัญหาของพี่น้องชาวประมงได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และยังไม่ได้รับการแก้ไขทั้ง ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรป(อียู) มาแปะป้ายไว้ที่หน้าผากของพี่น้องประมงไทย ว่ามีการทําการประมงแบบผิดกฎหมายขาดการดูแลไร้การควบคุม ถ้าประเทศไทยไม่แก้ไข ก็จะแบนการนําเข้าสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องวิ่งออกกฎหมายนับร้อยฉบับในระยะเวลาอันสั้น ออกมาบังคับใช้กับพี่น้องชาวประมง ประเด็น คือออกมาแบบหลับหูหลับตาออก ไม่ได้ดู ไม่ได้ถาม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้ฟังคนที่ทําอาชีพประมงแม้แต่น้อย ออกกันเอง สุดท้ายปัญหาก็ตกไปสู่พี่น้องชาวประมง นําความหายนะมาสู่อุตสาหกรรมประมงไทย บางคนต้องล้มละลาย สูญเสียธุรกิจ มีหนี้สินเกิดขึ้น บางคนแก้ปัญหาไม่ได้ก็ตัดสินใจที่จะต้องปิดชีวิตตัวเองลง  ต้องพูดตรงๆ ว่าประมงมีปัญหา แต่สิ่งที่พวกเราต้องทําก็คือเราต้องเข้าไปแก้ปัญหา จุดนั้น ไม่ใช่ไปลบทั้งระบบทิ้ง

นายวรศิษฎ์ กล่าวว่า ถ้าวันนี้มีแมลงสาบอยู่ในบ้านหนึ่งตัว คุณต้องไปไล่หรือว่าจัดการกับแมลงสาบตัวนั้น ไม่ใช่ไปเผาบ้านทิ้ง เพื่อจัดการกับแมลงสาบตัวเดียว ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่ลงไปในพื้นที่ ไปเจอพี่น้องชาวประมง ซึ่งตนเป็นลูกชาวประมง ลูกน้ำเค็ม ทุกครั้งเวลาไปเจอพี่น้องชาวประมง เขาถามเรื่องปัญหา ซึ่งรู้สึกละอายใจ ว่าทําไมเราถึงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานี้ให้กับพี่น้องได้สักที แต่หลังจากนี้ จะเป็นการวัดใจผู้ที่มีอํานาจ วัดใจหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง หากท่านมีความจริงใจในการที่จะแก้กฎหมายฉบับนี้เพื่อพี่น้องชาวประมงมากขนาดไหน ส่วนบทลงโทษประมงไทย น่าจะเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษในการปรับที่แพงที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่แพงที่สุดในโลก เช่น วันนี้ถ้าจดทะเบียนเครื่องมือประมง บอกว่าจดเป็นเครื่องมือเอ แล้วออกไปทําการประมงแล้วใช้เครื่องมือบีทําการประมง โดนปรับเป็น 10 ล้าน จริงๆ ถ้าวันนี้ออกไปทําประมง จะนําสัตว์น้ำเข้ามา ต้องแจ้งศูนย์ว่าจะถึงท่ากี่โมง จะมีสัตว์น้ำมาปริมาณเท่าไหร่ ถ้าแจ้งเวลาผิดแจ้งเที่ยง เข้ามาถึง 9 โมง โดนปรับหลายแสนแจ้งปริมาณสัตว์น้ำผิดเกิน10-15% โดนปรับหลายแสน ถามว่ามันใช่เรื่องที่จะต้องเอาผิดกันถึงขนาดนั้นเลยหรือไม่

" น่าน้อยใจ เปรียบเทียบกับโรงงานถ้ามีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในโรงงาน ยกตัวอย่างเช่น โรงงานไม้ โรงงานถุงมือ โรงงานเหล็ก ผิดเหมือนกันไหม ผิดเหมือนกัน ลักษณะเดียวกันแต่ทําไมในโรงงานถึงโดนปรับแค่ไม่กี่หมื่นบาท มาตรฐานมันอยู่ตรงไหน นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปแก้ ผมเชื่อว่า สส.ทุกท่านจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้นในฐานะหนึ่งในผู้ยื่น พ.ร.บ. ขอเรียกร้องให้สมาชิกทุกท่านได้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ แล้วเราจะได้กลับไปบอกพี่น้องชาวประมงที่บ้านของพวกเราว่า เราแก้ปัญหาให้ท่านสําเร็จแล้ว” สส.สตูล กล่าว

ด้านนายคอซีย์ มามุ สส.ปัตตานี  พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ปี58 รัฐบาลขณะนั้นได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจากอียู จึงได้ตราพ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 โดยมีความมุ่งหมายให้กิจการประมงไทยไม่ตกอยู่ในภาวะของผู้กระทำความผิดในการประกอบกิจการประมง ซึ่งตนเชื่อว่ารัฐบาลขณะนั้น ได้ทำลงไปเพราะเกรงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่กลับเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการประมง ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามเงื่อนไขแห่ง พ.ร.ก. ประมง พ.ศ. 2558 ผู้ประกอบกิจการประมงต้องเลิกกิจการ ด้วยการกำหนดลักษณะเรือกำหนด ลักษณะลูกเรือ และขนาดของเครื่องจักรจากน้ำ สิ่งที่ผู้ประกอบการประมงได้ร้องขอต่อรัฐบาลขณะนั้นให้มีมาตรการผ่อนปรน และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่รัฐบาลมีข้อจำกัดจึงไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงได้ผลกระทบในขณะนั้นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจธุรกิจประมงมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี

“วันนี้ผมและคณะได้พิจารณารวมกันแล้วว่า หากประเทศไทยยังคงยึดหลักการของพ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 คงเป็นเรื่องยากที่จะฟื้นฟูธุรกิจประมงให้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศผมและคณะจึงได้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยสาระสำคัญแห่งแนวทางแก้ไขเพิ่มเติม จะมุ่งเน้นความสำคัญประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ขอบเขตการใช้อำนาจรัฐไทยในเขตน่านน้ำ และนอกเขตน่านน้ำและจะเกิดผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติในอนาคต”นายคอซีย์ กล่าว

จากนั้นเวลา 17.19 น.  นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน  รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ สอง กล่าว่า ครม.ขอรับร่างพ.ร.บ.ไปพิจารณาตามข้อบังคับก่อน  60 วัน  ซึ่งงทำให้ สส.ฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วย โดยนายวิโรจน์  ลักขณาอดิศร  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล    โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอุ้มไปอีก 60 วัน เพราะมีเสนอมาหลายครั้งแล้ว  ทำให้นายอนุชา  นาคาครัย รมช.เกษตรฯ ในนามครม. กล่าวว่า รัฐบาล ขอกลับไปพิจารณาก่อน และเห็นตรงกันต้องรีบทำออกมาเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวประมง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งในที่ประชุม ครม. ให้เร่งแก้ดำเนินการ ให้เหมาะสมกับยุค กับเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่ได้ประวิงเวลาแต่อย่างไร  ทั้งนี้การอภิปรายเกิดการโต้เถียง จนปัญหาค่อนข้างจะบานปลาย  ทำให้ นายพิเชษฐ์ สั่งพักการประชุม 10 นาที  ในเวลา 17.50 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 18.08 น.ที่ประชุมกลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง ขณะที่สมาชิกในห้องประชุมยังมีการโต้เถียงกัน  ทำให้นายพิเชษฐ ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า ขอให้ที่ประชุมเดินหน้าต่อดีกว่า ตนไม่ให้ใครประท้วงอีกแล้ว

จากนั้นนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี ในฐานะรมช.มหาดไทย กล่าวว่า ในความเป็นสส.การเสนอกฎหมายเป็นหน้าที่ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็เสนอกฎหมายนี้เหมือนกัน ตนเพิ่งทราบวันนี้ และไม่เห็นด้วย เพราะสำนักงานกฤษฏีกาบอกว่ามี 2 ข้อในกฎหมายเกี่ยวพันกับต่างประเทศ ดังนั้นจะให้พิจารณา 60 วันช้าไป ครม.นำกลับไปพิจารณา 15 วัน ตนเข้าใจทุกคนมีความเป็นห่วง ตนมาในฐานะคนกลาง ทุกคนมีเหตุผลที่ถูกต้อง ไม่มีใครผิด ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เพราะมีกฎหมายระหว่างประเทศ 15 วันคงไม่นานเกินรอ

ทำให้นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอให้กลับมาพิจารณาในสภาในวันพุธที่ 21 ก.พ. ได้หรือไม่ เชื่อว่ารัฐบาลและกฤษฎีกาทำทัน ถ้า 15 วันรอเป็นสัปดาห์ จากนั้นนายชาดา กล่าวว่า มีขั้นตอนการส่งหนังสือ ขอ 15 วัน แต่นายณัฐวุฒิ ต่อรองว่าขอวันที่ 22 ก.พ.ในฐานะเราเป็นคนอุทัยธานีด้วยกัน ทำให้นายชาดา กล่าวว่า กล้าขอก็กล้าให้ 

จากนั้นนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน หารือว่า ถ้าเป็นร่างสส.ยื่นกันเอง ไม่มีร่างครม.จะอุ้มกันเองทุกร่าง เพราะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย ทำให้นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า การที่ครม.รับหลักการร่างพ.ร.บ.ที่สส.ไปพิจารณาภายใน 60 วันเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ไม่ได้หลบหลู่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการตรากฎหมาย

ทำให้นายปกรณ์วุฒิ และนายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ลงมติ เพราะเป็นคนเสนอ  แต่ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า เราผ่านขั้นตอนนั้นไปแล้ว อย่าใช้อารมณ์ เพราะครม.จะนำกลับไปและนำมาพิจารณาในสภาฯในวันที่ 22 ก.พ.จากนั้นสั่งปิดประชุมเวลา 18.30