วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า คณะผู้บริหารระดับสูงจากจังหวัดชิซุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขอรับทราบนโยบายและแสวงหาความร่วมมือการพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระหว่างสองประเทศ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

โดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการหารือร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงจากจังหวัดชิซุโอกะ (Shizuoka) ประเทศญี่ปุ่น สโมสรน้ำพุร้อนไทยและสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8 – 11 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศและเมืองพี่เมืองน้องในมิติการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการหารือในวันนี้ได้มุ่งเน้นความร่วมมือและสนับสนุนการท่องเที่ยว ร่วมกันในระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับแหล่งน้ำพุร้อนไทยสู่เมืองสปาน้ำพุร้อน (Hot Spring Spa Town) และเส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำพุร้อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ปี 2567 นี้ ภาครัฐได้มีนโยบายสำคัญในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) มีเทรนด์เติบโตของทั่วโลก และกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสของธุรกิจ เนื่องจากเรามีแหล่งน้ำพุร้อนทั่วประเทศ น้ำพุร้อนเค็มที่จังหวัดกระบี่มีเพียงไม่กี่แห่งในโลก ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดไปสู่การบำบัดสุขภาพได้ น้ำพุร้อนสันกำแพง ที่จังหวัดเชียงใหม่อุดมไปด้วยแร่ธาตุหลายชนิด อุณหภูมิสูงกว่า 100 องศาเซลเซียส นำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนและกระจายรายได้ไปยังชุมชน สร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจให้กับภาคธุรกิจและชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการท่องเที่ยว การขยายวันพำนัก และการเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น

นอกจากนี้ นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ยังกล่าวเสริมว่า การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความร่วมมือในครั้งนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงจากจังหวัดชิซุโอกะได้นำโมเดล ICOI project (Izu Health Care Onsen Innovation Project) มาแบ่งปันองค์ความรู้ ด้านนวัตกรรม – เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถเชื่อมความร่วมมือด้านการยกระดับสินค้า บริการ รวมทั้งร่วมกันส่งเสริมตลาดให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประกอบกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการขับเคลื่อนและพัฒนาน้ำพุร้อนในแหล่งที่มีศักยภาพ โดยเริ่มต้นจากวางผังแม่บทนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของพื้นที่ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของทรัพยากร และกระจายรายได้ โดยการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การหารือเชิงนโยบาย และสานต่อความร่วมมือด้านวิชาการ การตลาด และการลงทุน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระหว่างสองประเทศในระยาวต่อไป