เหล่านักรณรงค์สิ่งแวดล้อมทั้งหลายในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ต่างพากันตีปีกดีอกดีใจกันไปถ้วนหน้า

สำหรับ ผลประชามติของชาวปาริเชียน ซึ่งมีขึ้นเมื่อสัปดาห์นี้ ปรากฏออกมาว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายปรับขึ้นค่าจอด “รถยนต์แบบอเนกประสงค์” หรือ “เอสยูวี” (SUV : Sports Utility Vehicles) ที่ตามรายงานข่าวระบุว่า ปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากอัตราค่าจอดของเดิมแก่รถยนต์ประเภทนี้ที่แล่นเข้ามาจอดตามท้องถนนสายต่างๆ ในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส

ตามตัวเลขของการลงประชามติ ที่ทางการกรุงปารีสเปิดคูหาเลือกตั้งต่างๆ 39 หน่วยทั่วเมืองหลวงของฝรั่งเศส ก็ปรากฏว่า ร้อยละ 54.6 ของประชาชนชาวปารีสที่ไปใช้สิทธิ์ “เห็นชอบ” หรือ “สนับสนุน” ที่จะให้ทางการกรุงปารีสเพิ่มอัตราค่าจอดรถ

ส่วน “ผู้ไม่เห็นชอบ” หรือ “ไม่สนับสนุน” ที่จะเพิ่มอัตราค่าจอดรถของทางการกรุงปารีส มีจำนวนที่ร้อยละ 45.4 ของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิลงประชามติ

จากผลการลงประชามติที่ประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงปารีส “เห็นชอบ” หรือ “สนับสนุน” ให้เพิ่มอัตราค่าจอดรถข้างต้น ก็จะทำให้การจัดเก็บอัตราค่าจอดใหม่ในกรุงปารีส ถูกตราเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนปลายปีนี้ต่อไป

บัตรลงประชามติว่าเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ต่อการเพิ่มอัตราค่าจอดรถเอสยูวีในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส (Photo : AFP)

โดยกฎหมายว่าด้วยการจัดเก็บค่าจอดรถอัตราใหม่ตามที่มีการลงประชามติไปนั้น ก็จะกำหนดให้เพิ่มอัตราค่าจอดรถสำหรับรถยนต์ประเภทเอสยูวีเป็น 18 ยูโร หรือ 19.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 690 บาท) ซึ่งราคานี้ก็เป็นอัตราการจอดในพื้นที่หลักๆ ของกรุงปารีส เช่น ย่านใจกลางกรุงปารีสเป็นต้น ทั้งนี้ ราคาดังกล่าว ก็ถือเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า เพราะอัตราเดิมก็เก็บเพียง 6 ยูโร หรือ 6.46 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว230 บาท) เท่านั้น

นอกจากรถยนต์แบบอเนกประสงค์ ที่ต้องถูกปรับราคาเพิ่มขึ้นสำหรับการจอดในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว “รถบรรทุกเล็ก หรือ “รถกระบะ” หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า “รถปิกอัพ” ประเภทขับเคลื่อน 4 ล้อ” หรือ “4คูณ4 (4 x 4)” ก็จะถูกปรับเปลี่ยนอัตราค่าจอดรถในราคาเดียวกับรถยนต์เอสยูวีด้วยเช่นกัน

ส่วนอัตราการจอดรถยนต์ประเภทดังกล่าวในพื้นที่รอบนอกกรุงปารีส ซึ่งไม่ใช่พื้นที่หลักของเมืองหลวงฝรั่งเศสนั้น ก็เพิ่มอัตราค่าจอดมาอยู่ที่ 12 ยูโร หรือ 12.93 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 460 บาท)

ทั้งนี้ ค่าจอดรถอาจจะพุ่งไปถึง 75 – 255 ยูโร หรือ 80.77 – 274.61 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 2,875 – 9,775 บาท) หากรถยนต์คันนั้นจอดนาน 6 ชั่วโมง

นอกจากรถยนต์เอสยูวี และรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ต้องเผชิญกับอัตราค่าจอดรถที่แพงขึ้นถึง 3 เท่าข้างต้นแล้ว รถยนต์ที่มีน้ำหนักมากกว่า 1.6 ตัน หรือ 1,600 กิโลกรัม ที่ใช้เครื่องยนต์ทั้งในแบบสันดาปล้วนๆ (Combustion Engine) หรือเครื่องยนต์ประเภทไฮบริด คือ ใช้พลังงานได้ 2 แบบ ได้แก่ พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง และพลังงานไฟฟ้า รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าล้วนๆ หรืออีวี (Electric Vehicles) ผู้ขับขี่รถก็ต้องเตรียมเงินสำหรับอัตราค่าจอดใหม่ที่แพงมากขึ้นถึง 3 เท่าตัวไว้ด้วยเช่นกัน หากขับขี่เข้ามาจอดในกรุงปารีส

อย่างไรก็ตาม มาตรการของกฎหมายนี้ จะไม่มีผลบังคับใช้สำหรับรถเอสยูวีที่จอดในที่พักอาศัยของตน และรถเอสยูวีที่มีขนาดเล็ก เช่น รถเอสยูวียี่ห้อเรโนลต์แคปตูร์ (Renault Captur) และรถเอสยูวียี่ห้อเปอโยต์ 2008 (Peugeot 2008) เป็นต้น

กล่าวถึงประชามติที่จัดทำขึ้นนี้ ก็ได้รับความสนับสนุนจาก “นางแอนน์ ฮิดาลโก” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “นายกเทศมนตรีหญิงกรุงปารีส”

โดยนายกเทศมนตรีหญิงกรุงปารีสรายนี้ มาจาก “พรรคสังคมนิยม (Socialist Party)” ซึ่งมีแนวนโยบายที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานายกเล็กแห่งกรุงปารีสผู้นี้ ก็มีคำสั่งห้ามใช้เครื่องยนต์ดีเซลมาแล้ว รวมถึงการผลักดันให้ประชาชนชาวกรุงปารีสหันมาใช้รถจักรยานให้มากขึ้น ตลอดจนมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้าง “ทางรถจักรยานโดยเฉพาะ” หรือ “ไบค์เลน (Bike Lane)” ในกรุงปารีสคิดเป็นระยะทางก็รวมแล้วถึง 84 กิโลเมตรด้วยกัน ผลปรากฏว่า การผลักดันการรณรงค์ข้างต้น ก็ทำให้ชาวกรุงปารีสหันมาใช้รถจักรยานเป็นยานพาหนะมากขึ้นถึงร้อยละ 71 เลยทีเดียว

เรียกว่า การรณรงค์ผลักดันนโยบายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวปารีสด้วยดี ทั้งในเรื่องการใช้รถจักรยาน และการลงประชามติเพื่อปรับขึ้นอัตราค่าจอดรถในกรุงปารีสโดยกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองหลวงของฝรั่งเศส

โดยผู้ไปใช้สิทธิลงประชามติรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนและลูกของตน ก็ยังปั่นรถจักรยานมาลงคะแนนเสียงในประชามติหนนี้เลย ก่อนกล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า จำเป็นต้องใช้รถยนต์เอสยูวีในปารีสหรือ? ทั้งนี้ มีรายงานว่า กลุ่มคนที่ต่อต้านรถเอสยูวีเหล่านี้ ถึงขั้นแอบปล่อยลมยางรถเอสยูวีที่จอดไว้ตามริมถนนก็มี

	รถเอสยูวี ที่ถูกกลุ่มต่อต้านแอบปล่อยลมยาง จนยางแบน (Photo : AFP)

ทางด้าน นายดาวิด เบลลิอาร์ด รองนายกเทศมนตรีกรุงปารีส กล่าวว่า หากกฎหมายที่มาจากการลงประชามติครั้งนี้มีผลบังคับใช้ออกมา ก็จะส่งผลต่อผู้ใช้รถยนต์เอสยูวี และรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ รวมถึงรถยนต์ขนาดใหญ่อื่นๆ รวมแล้วคิดเป็นร้อยละ 10 หรือ 1 ใน 10 ของผู้ใช้รถทั้งหมดในกรุงปารีสเลยทีเดียว จากการที่ชาวกรุงปารีส นิยมใช้รถยนต์ประเภทนี้กันอยู่มาก จนทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ประเภทดังกล่าวเติบโตเป็นว่าเล่นในช่วงที่ผ่านมา แต่ทว่า ทางสำนักงานเทศบาลกรุงปารีส ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจอดใหม่ โดยจะมีรายได้ถึง 35 ล้านยูโรต่อปีเลยทีเดียว (คิดเป็นเงินไทยราวกว่า 1,300 ล้านบาท)

ขณะที่ บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ผลการลงประชามติในกรุงปารีสเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็อาจจะมีผลให้เมืองอื่นๆ ในฝรั่งเศสตามอย่างด้วย รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป ก็อาจจะดำเนินรอยตาม เพราะถือเป็นหนึ่งในนโยบาย หรือมาตรการสำหรับการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ ตลอดจนภาวะโลกร้อน ที่หลายคนมีความเป็นห่วงเป็นใย เนื่องจากรถยนต์ประเภทนี้ ก็ถือเป็นยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ปล่อยควันเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมากยิ่งกว่ารถยนต์ประเภทอื่นๆ ที่มีขนาดเครื่องยนต์เล็กกว่า