สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้พูดถึงเอกลักษณ์แม่พิมพ์ของพระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์ 7 ชั้นนิยมและเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาก็พูดถึงเอกลักษณ์แม่พิมพ์ของพระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์ 6 ชั้นอกตัน ไปแล้ววันนี้เราจะมาศึกษาถึงเอกลักษณ์แม่พิมพ์ของพระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์ 6 ชั้น อกตลอด (อกร่อง)  ชึ่งเป็นพิมพ์ที่ 3 หรือพิมพ์สุดท้ายของพระสมเด็จวัดเกศไชโย เป็นอีก 1 ใน 3 ตระกูลพระสมเด็จ ที่สร้างโดย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) โดยได้บรรจุไว้ในองค์ ‘พระมหาพุทธพิมพ์’ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารวัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง เป็นพระสมเด็จที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ “อกร่อง หูบายศรี มีขอบกระจก” ปัจจุบันในวงการพระเครื่องนับว่าให้ความนิยมเป็นอย่างสูง และจัดรวม ‘พระสมเด็จวัดเกศไชโย’ ให้อยู่ในชุดเบญจภาคี เช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆัง และพระสมเด็จบางขุนพรหม

พระสมเด็จวัดเกศไชโย จ.อ่างทอง พิมพ์ 6 ชั้น อกตลอด (อกร่อง) ลักษณะเป็นพระพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยม ตัดขอบข้างทั้ง 4 ด้านจะมนแทบทุกองค์รวมทั้งมุมทั้ง 4 มุมด้วย มีกรอบกระจกจากพื้นผนังกรอบอีกชั้นหนึ่ง และมีพุทธลักษณะโดยรวมคล้ายๆ กัน คือ องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางขัดสมาธิราบ อกร่อง หูบายศรี สถิตเหนือฐานอาสนะภายในซุ้มครอบแก้วด้านในกรอบกระจก เส้นซุ้มครอบแก้วจะคมชัด มีลักษณะเป็นเส้นโค้งครอบคลุมองค์พระจดเส้นกรอบด้านล่าง และฐานขององค์พระมี 6 ชั้น เอกลักษณ์เฉพาะอยู่ที่ลำพระองค์ที่ขนานนามว่า “อกตลอดหรืออกร่อง” พิจารณาจากพระอุระ (อก) ซึ่งลักษณะเป็นเส้นคู่ตั้งแต่เส้นพระอังสาจึงทำให้เกิดเป็นร่องลงไปถึงพระอุทร (ท้อง)

เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์ 6 ชั้น อกตลอด (อกร่อง)

- มุมทั้ง 4 มุมขององค์พระจะต้องมน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ ไม่ได้เกิดจากการฝนเพื่อให้เกิดความมน

- พระเกศเป็นลำยาว ในองค์พระที่สมบูรณ์ตรงกลางโป่งออกบางๆ คล้ายเปลวเทียน

- ลำพระศอจะมีขนาดใหญ่กว่าพิมพ์อกตัน

- ปลายของแต่ละฐานทั้ง 6 ชั้น จะต้องมีความแหลมคมเป็นธรรมชาติ

- ลักษณะของฐานทุกฐานจะโค้งเป็นลักษณะหลังเต่าหรือคล้ายๆ ลูกระนาด

- ในจุดที่อยู่ระหว่างพระเพลา (หน้าตัก) ขององค์พระกับจุดประสานพระหัตถ์จะมีตุ่มนูนขึ้นมา

- ด้านหลังองค์พระจะมีรอยปาดโดยตอกที่ใช้ตัดขอบ ลักษณะการปาดจะปาดจากซ้ายไปขวา อันนับเป็นจุดสำคัญ ซึ่งดูเผินๆ แล้วจะเหมือนเป็นหลังเรียบ

พระสมเด็จวัดเกศไชโย นับเป็นพระที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมสะสมอย่างกว้างขวาง เพราะว่าเป็นพระที่อยู่ในตระกูล “พระสมเด็จ” ที่สร้างโดย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ผู้เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วหล้า ด้านพุทธคุณประสบการณ์สูงมากทางด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม และโชคลาภมากันครบครันครับผม