คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์  เศรษฐช่วย

ขณะนี้การเมืองของสหรัฐอเมริกากำลังเป็นประเด็นร้อนสุดๆที่ส่งสัญญาณให้เห็นว่า อาจจะเกิดวิกฤติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในช่วง 24 ปีที่ผ่านมานับได้ว่า ขณะนี้ถือเป็นอีกครั้งคราหนึ่งที่ศาลฎีกาสหรัฐฯจะต้องเข้ามามีบทบาทในการตัดสินเกี่ยวข้องกับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป!!!

ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งจากการออกมาเปิดใจให้สัมภาษณ์ของผู้พิพากษาหนึ่งในผู้พิพากษา 9 คนของคณะผู้พิพากษาชุดปัจจุบัน

ซึ่งผู้พิพากษาท่านนี้ก็คือ“ผู้พิพากษาโซเนีย โซโตเมเยอร์” วัย 69 ปี อดีตนักศึกษามันสมองระดับหัวกะทิเข้มข้น จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จาก “มหาวิทยาพรินส์ตัน” และ จบด้านกฎหมายจาก“มหาวิทยาลัยเยล” โดยท่านมีเชื้อสายเป็นชาวลาติน และท่านยังเป็นผู้พิพากษาคนแรกของเชื้อสายลาตินที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาในยุคสมัยของ “ประธานาธิบดีบารัก โอบามา” เมื่อ 15 ปีก่อน แถมท่านยังเป็นผู้พิพากษาหัวก้าวหน้ามีความคิดเห็นที่ทันสมัยอีกด้วย

โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2024 ที่ผ่านมาผู้พิพากษาท่านนี้ได้รับเชิญไปให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของท่านกับนักศึกษากฎหมายของ “มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย” ที่เมืองเบิร์กเลย์

โดยผู้พิพากษาท่านนี้ได้เปิดใจกับเหล่านักศึกษาในทำนองว่า ศาลฎีกามีคดีสำคัญๆมากขึ้นทุกๆวัน แถมยังมีคดีฉุกเฉินเพิ่มขึ้นอีกด้วย จนบางครั้งท่านก็มีความรู้สึกท้อแท้และหงุดหงิดใจว่า เพราะเหตุใดที่ท่านมักจะอยู่ฝ่ายที่มีเสียงข้างน้อยเสมอๆ เพราะเสียงส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายขวาจัดหัวอนุรักษนิยม ที่คุมเสียงข้างมากถึง 6 คน หรือถือเป็นคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 นั่นเอง!!!

อนึ่งในอดีตเมื่อปี ค.ศ. 2000 ก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นที่ไม่แตกต่างจากขณะนี้สักเท่าใดนัก สืบเนื่องมาจากครั้งนั้นศาลฎีกาได้มีการพิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับการเลือกประธานาธิบดีระหว่าง “รองประธานาธิบดีอัล กอร์” กับ “ผู้ว่าฯจอร์จ ดับเบิลยู.บุช”จากรัฐเทกซัส โดยมี “ผู้ว่าฯเจฟ บุช” ผู้เป็นน้องชายอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ ณ รัฐฟลอริดา

ปกติแล้วที่ผ่านมารัฐฟลอริดา มักจะเป็นรัฐชี้ขาดผลการเลือกตั้งเสมอมา เพราะมีคะแนนอิเล็กโทรัล โหวตถึง 25 คะแนนด้วยกัน

โดยครั้งนั้นเป็นคืนของการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏว่าสื่อแทบทุกสำนักต่างออกมาประกาศว่า รองประธานาธิบดีอัล กอร์ จะได้รับชัยชนะให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป โดยผู้ว่าฯจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็ยังยกหูโทรศัพท์โทรไปแสดงความยินดีอีกด้วย

แต่พอวันรุ่งขึ้นปรากฏว่ากลับตาลปัตร เพราะผู้ว่าฯจอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุช เกิดเปลี่ยนใจไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง มีผลทำให้ครั้งนั้นกลายเป็นวิกฤติทางการเมืองไปในทันที

และเมื่อมีเหตุเยี่ยงนั้น จึงมีการนับคะแนนกันใหม่ด้วยมือของมนุษย์แทนที่การนับด้วยเครื่องอิเล็กโทรนิก แถมติดตามมาด้วยปัญหายุ่งเหยิงวุ่นวายในเรื่องการนับคะแนนอยู่หลายวัน แต่ในที่สุดศาลฎีกาของรัฐฟลอริดาก็ได้ลงมติให้ รองประธานาธิบดีอัล กอร์ เป็นฝ่ายชนะ

แต่ทว่าค่ายของผู้ว่าฯจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ไม่เห็นด้วยในคำตัดสิน จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อไปยังศาลฎีกาสหรัฐฯ และเมื่อศาลฎีกาของสหรัฐฯทำการพิจารณาใหม่กลับปรากฏผลมติให้ ผู้ว่าฯจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช เป็นฝ่ายชนะ ด้วยเสียง 5 ต่อ 4  

และครั้งนั้นหากเจาะลึกกันลงไปแล้ว เป็นที่น่าสนใจอีกว่า หนึ่งในเก้าของผู้พิพากษาที่ทำการพิจารณาคดีนี้ก็คือ “ผู้พิพากษาแคลแรน โธมัส”(หนึ่งในผู้พิพากษาเก้าท่าน ที่ขณะนี้ก็เป็นผู้พิพากษาที่ร่วมวินิจฉัยคดีของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์อีกด้วย) ซึ่งเป็นคนผิวสี ที่เป็นคนโปรดของ “ประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช” ที่เขาได้แต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาและยังเป็นผู้เป็นบิดาของผู้ว่าฯจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช  จึงทำให้เกิดความคลางแคลงใจขึ้นมาเข้าลักษณะที่ว่า เป็นการทดแทนบุญคุณต่อกัน จนตราบเท่าทุกวันนี้

อนึ่งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2024  ศาลฎีกาฯได้เปิดโอกาสให้คณะทนายความของ “อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ที่ยื่นอุทธรณ์คดี ณ ศาลสูงสุดของรัฐโคโลราโด เนื่องจากที่ผ่านมาตัดสินว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่มีสิทธิที่จะลงเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯได้อีกต่อไป” สืบเนื่องมาจากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มีส่วนยุยงชักใยก่อการกบฏจากกรณีเกิดการจลาจล เมื่อวันที่ 6 มกราคม ปีค.ศ.2021 ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในบทแทรกที่ 14 ของปีค.ศ. 1868 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญภายหลังจากการเกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ หรือ 156 ปีที่ผ่านมา!!

เนื้อหาสาระหลักของบทเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อปี ค.ศ.1868 โดยศาลฎีกาของรัฐโคโลราโดอ้างว่า ผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำกบฏต่อรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ที่เข้าข่ายกับเรื่องราวของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เลยทีเดียว

ทั้งนี้ขณะที่ “ผู้พิพากษาโซเนีย โซโตเมเยอร์” สนทนาพูดคุยกับนักศึกษาด้านกฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมื่อสัปดาห์ก่อน ท่านได้ให้ทรรศนะว่า ศาลฎีกามีบทบาทสำคัญสูงมากในการตัดสินข้อพิพาทระหว่างค่ายพรรคของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ กับฝ่ายศาลรัฐโคโลราโด เพราะว่า คำวินิจฉัยของศาลฎีกาจะมีผลกระทบต่อศาลฎีกา ต่อประเทศ และต่อทั่วโลก และหากศาลฎีกาตัดสินผิดพลาด ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันไปอีกนานจากรุ่นสู่รุ่นเลยทีเดียว

โดยขณะนี้สมาชิกในค่ายพรรครีพับลิกันต่างเชื่อกันว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป คงจะไม่แคล้วอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของพวกเขา เพราะอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการแข่งขันขั้นต้นสามรัฐแรก

อีกทั้งขณะนี้คู่ต่อสู้ของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ยังเหลือเพียงคนเดียว นั่นก็คือ “อดีตผู้ว่าฯนิกกี เฮลีย์” แห่งรัฐเซาท์แคโรไลนา

ทั้งนี้หากศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาให้ อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ชนะคดีก็จะทำให้เขาสามารถก้าวเดินหน้าในยุทธจักรการเมืองของสหรัฐฯต่อไปได้

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าขณะนี้ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีทั้งหมด 9 ท่านนั้น ปรากฏว่าเป็นผู้พิพากษา สายอนุรักษ์นิยมหัวโบราณ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทรัมป์ถึง 3 ท่าน จึงทำให้ชาวอเมริกันส่วนหนึ่งเริ่มเกิดความสงสัยคลางแคลงใจว่า ผู้พิพากษาทั้งสามคนนี้อาจจะลำเอียงเข้าข้างอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ก็มีความเป็นไปได้!!!

และต้องไม่ลืมอีกด้วยว่า ผู้พิพากษาทั้ง 9 ท่านนี้ มีถึง 6 ท่าน อยู่ในฝั่งหัวอนุรักษ์นิยม โดยอีก 3 ท่าน อยู่ฝั่งหัวทันสมัยก้าวหน้า โดยไม่มีผู้พิพากษาที่เป็นคนกลางอยู่เลย

และหากจะมองในแง่ดีแล้วไซร้ ขณะนี้ชาวอเมริกันอาจจะคิดว่าผู้พิพากษาทั้ง 9 คนนี้คงจะให้ความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย แต่ก็ยังคงสร้างความหงุดหงิดให้กับสังคมไม่น้อยทีเดียว เพราะยังมีคนอเมริกันส่วนใหญ่เกรงว่าจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง แถมภรรยาของผู้พิพากษาแคลแรน โธมัส ก็เป็นนักกฎหมายผู้มีความเชี่ยวชาญที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ อย่างออกหน้าออกตา และยังเข้าร่วมกับกลุ่มประท้วงก่อการจลาจล เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 อีกด้วย

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2024 ที่ผ่านมาไม่นานนี้ ได้มีนักประวัติศาสตร์ 25 คน ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสงครามกลางเมืองออกมาสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐโคโลราโด เพื่อไม่ต้องการให้ประธานาธิบดีทรัมป์มีสิทธิ์ลงแข่งขันตำแหน่งประธานาธิบดีอีกต่อไป โดยพวกเขาออกมาอ้างว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐฯที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 (ตามที่ผมอธิบายไว้ข้างต้น)

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยออกมามีผลอย่างไร ก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยอาจจะคิดว่า คดีนี้ไม่โปร่งใส เลือกข้าง มีความลำเอียง ยกเว้นแต่จะมีผลแบบเป็นมติเอกฉันท์เท่านั้นละครับ