ถือเป็นสำนวนสุภาษิตไทยที่ยังคงใช้ได้เสมอกับคำว่า “มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่”

ทั้งนี้ เพราะไม่ว่าใครถือครอง “ทอง” หรือ “ทองคำ” เป็นจำนวนมาก ล้วนได้รับความนับหน้าถือตาต่อบุคคลทั้งหลายว่า เป็นผู้มีอันจะกิน เงินในกระเป๋ากำลังฟุ้งเฟื่อง สามารถซื้อทองคำมาถือครองได้ โดยที่สถานการณ์การเงินของตนเองไม่เดือดร้อน

เช่นเดียวกับระดับประเทศชาติ ถ้าประเทศชาติถือครองทองคำเป็นจำนวนมาก ก็ย่อมได้รับความนับหน้าถือตาเช่นกันในฐานะประเทศที่กำลังมีสถานการณ์เศรษฐกิจเฟื่องฟู ถึงขนาดที่ว่า สามารถจัดสรรนำรายได้ของประเทศชาติส่วนหนึ่ง ไปซื้อทองคำมาเข้าคลังหลวงไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศที่สามารถซื้อทองคำมาตุนไว้ในคลังหลวงเป็นจำนวนมากระดับหลักร้อยตัน หรือแสนกิโลกรัม ณ ปัจจุบันนั้น ก็ต้องบอกว่า มีไม่กี่ประเทศ

เพราะนั่นหมายความว่า ประเทศที่อย่างนั้นได้ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต้องดีจริงๆ ถึงขั้นสามารถจัดสรรรายได้ของประเทศส่วนหนึ่งไปซื้อทองคำมากักตุนไว้ได้เป็นจำนวนมากเช่นนั้น โดยที่การเงิน การคลัง ของประเทศไม่เดือดร้อนกระทบกระเทือน

โดยการซื้อทองคำในระดับประเทศข้างต้นนั้น นอกจากประชาชนพลเมืองของประเทศแล้ว ก็ยังมีผู้ที่ดำเนินการจัดซื้อรายใหญ่ของประเทศยิ่งกว่า นั่นคือ “ธนาคารกลาง” หรือ “แบงก์ชาติ” ของประเทศนั้นๆ นั่นเอง

ตามการเปิดเผยของ “สภาทองคำโลก” หรือ “ดับเบิลยูจีซี” (WGC : World Gold Council) องค์กรที่ดูแลด้านอุตสาหกรรมทองคำและการพัฒนาตลาดทองคำระหว่างประเทศ ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ ก็ระบุถึงรายชื่อประเทศที่จัดซื้อทองคำมาตุนไว้ในจำนวนมหาศาล คือ ระดับเกินหลักร้อยตันในช่วงรอบปี 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ผ่านมา

โดยรายงานของสภาทองคำโลก ระบุว่า “จีน” ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหมายเลข 2 ของโลก ยังคงเป็นประเทศที่จัดสรรซื้อทองคำมากที่สุดในโลก ตลอดช่วง 12 เดือนของปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคครัวเรือน คือ ประชาชนชาวจีนที่พากันแห่ซื้อทองคำ และในส่วนของ “ธนาคารกลาง” คือ “ธนาคารประชาชนจีน” หรือ “พีบีโอซี” (PBoC : Peopole Bank of China) อันเป็น “แบงก์ชาติของจีน” นั่นเอง

ในการซื้อทองคำของภาคครัวเรือน ทั้งในรูปแบบเหรียญทองคำ ทองคำแท่ง และทองคำรูปพรรณนั้น ก็มากกว่าเมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2565) เฉลี่ยร้อยะล 10.1 จนส่งผลให้มีทองคำน้ำหนักรวมอยู่ที่ 1,006 ตัน หรือ 1,006,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นตัวเลขรวมที่มากกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว 82 ตัน หรือ 82,000 กิโลกรัม

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการจัดซื้อทองคำของ “ธนาคารประชาชนจีน” ซึ่งเป็นธนาคารกลางของจีนนั้น ปรากฏความต้องการ หรือดีมานด์ (Demand) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 12 เดือนของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เหตุปัจจัยที่ทำให้ประเทศจีน มีดีมานด์ ความต้องการถือทองคำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ก็เพราะว่ารัฐบาลปักกิ่ง ทางการของจีน อยากจะเก็บทองคำ แทนการเก็บทรัพย์สินต่างๆ ที่เป็นสกุลของประเทศสหรัฐฯ มากกว่า ซึ่งรวมถึงพันธบัตร หรือบอนด์ (Bond) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย

เฉพาะของเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ธนาคารกลางของจีน ก็จัดซื้อทองคำไปจำนวน 23 ตัน หรือ 23,000 กิโลกรัม ส่งผลตลอดทั้ง 12 เดือนของปีที่แล้ว ธนาคารพีบีโอซีของจีน จัดซื้อทองคำรวมแล้วมีน้ำหนักทั้งสิ้น 204 ตัน หรือ 204,000 กิโลกรัม และก็ทำให้พญามังกรจีน อันเป็นนิกเนมของประเทศจีน มีทองคำสำรองอยู่ในคลังหลวงรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,215 ตัน หรือ 2,215,000 กิโลกรัม ซึ่งจินตนาการไม่ออกเลยทีเดียวว่า ทองคำจำนวนกว่า 2 ล้านกิโลกรัม จะเป็นกองทองคำที่มีขนาดมหึมาขนาดไหน

ด้วยประการฉะนี้ ทางสภาทองคำโลก จึงยกให้จีนแผ่นดินใหญ่ เป็นชาติพี่เบิ้มที่ถือครองทองคำมากที่สุดในโลก

บรรยากาศการซื้อทองคำของภาคครัวเรือนในร้านทองแห่งหนึ่ง ประเทศจีน (Photo : AFP)

นอกจากพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ถือครองจำนวนมหาศาลแล้ว ก็ยังมี “อินเดีย” เจ้าของฉายา “แดนภารตะ” ก็ถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถือครองทองคำจำนวนมาก ทั้งในส่วนของภาคครัวเรือน และในส่วนของธนาคารทุนสำรองอินเดีย หรืออาร์บีไอ (RBI : Reserve Bank of India) ซึ่งเป็นธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติของอินเดีย นั่นเอง

โดยเมื่อช่วงปีที่แล้ว ภาคครัวเรือนของอินเดีย ซื้อทองคำ ทั้งในรูปแบบเหรียญทองคำ และทองคำแท่ง รวมแล้ว 747.5 ตัน หรือ 747,500 กิโลกรัม ส่วนธนาคากลางแบงก์ชาติของอินเดีย จัดซื้อทองคำเข้าคลังหลวงจำนวน 337 ตัน หรือ 337,000 กิโลกรัม

การซื้อขายทองคำในประเทศอินเดีย (Photo : AFP)

ทั้งนี้ มีรายงานจากบรรดานักวิเคราะห์ ระบุด้วยว่า จากการที่ทั้งสองประเทศข้างต้น คือ จีนและอินเดีย ระดมขนเงินมาซื้อทองคำจำนวนมหาศาลเช่นนี้ ก็ส่งผลให้เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกทะยานพุ่งสูงขึ้นในช่วงรอบปีที่ผ่านมาด้วย

โดยรายงานสถานการณ์ซื้อขายในช่วงปี 2023 (พ.ศ. 2566) ที่เพิ่งผ่านพ้นมานั้น ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งทะยานขึ้นไปถึง 2,063 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2022 (พ.ศ. 2565) แบบเปรียบเทียบกัน “ปีต่อปี” หรือ “เยียร์-ออน-เยียร์ (Year-on-year) คิดเป็นอัตราเฉลี่ยก็กว่าร้อยละ 13

นอกจากสองประเทศพี่เบิ้มทางเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว ตามรายงานของ “สภาทองคำโลก” ก็ระบุว่า “ตุรเคีย” หรือชื่อเดิมว่า “ตุรกี” ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ในรอบปีที่ผ่านมา ทางธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติ ของตุรเคีย จัดซื้อทองคำเข้ามาตุนไว้เป็นจำนวนมาก เอาเฉพาะในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก็ซื้อเพิ่มมาอีก 19 ตัน หรือ 19,000 กิโลกรัม ส่งผลให้ตุรเคีย มีทองคำสำรองในคลังหลวงมากถึง 498 ตัน หรือ 498,000 กิโลกรัม

เช่นเดียวกับ “โปแลนด์” ประเทศที่กำลังมีภาระกับคลื่นผู้อพยพชาวยูเครนที่หนีภัยสงครามการสู้รบกับรัสเซียมา แต่ปรากฏว่า สถานการณ์การเงินของประเทศแห่งนี้ ก็ยังดีอย่างน่าทึ่ง เพราะนอกจากจะจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มขึ้นแล้ว ทาง “ธนาคารแห่งชาติโปแลนด์ หรือเอ็นบีโอพี (National Bank of Poland)” ก็จัดซื้อทองคำในปีที่แล้วถึงกว่า 100 ตัน หรือกว่า 100,000 กิโลกรัม ส่งผลให้โปแลนด์มีทองคำถือครองในคลังหลวงรวมแล้ว 340 ตัน หรือ 340,000 กิโลกรัม

ทาง “ดับเบิลยูจีซี” ยังประมาณการด้วยว่า ความต้องการซื้อทองคำในปี 2024 (พ.ศ. 2567) ก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอีกเช่นเคย จนส่งผลต่อราคาในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการด้วยเช่นกัน