นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เผยแนวทางจัดกิจกรรมตลาดนัดรีไซเคิล ว่า กิจกรรมดังกล่าว กำหนดจัดทุกวันพุธกลางเดือน ที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า และทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน ที่ศาลาว่าการกทม.ดินแดง ล่าสุดในวันที่ 15 ก.พ.2567 เวลา 08.30-12.00 น. สำนักสิ่งแวดล้อม กำหนดจัดตลาดนัดรีไซเคิล ที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า บริเวณจุดจอดรถชั่วคราว ทางเข้าฝั่งถนนดินสอ โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะ นัดผู้ซื้อมารับซื้อขยะรีไซเคิล เพื่อเพิ่มช่องทางในการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างเหมาะสมแก่บุคลากรและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของส่วนราชการต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

 

โดยมีอัตราการรับซื้อขยะรีไซเคิลต่อ 1 กิโลกรัม ดังนี้ กระดาษขาวดำ 4 บาท กระดาษรวมทุกชนิดทุกสี 1 บาท กระดาษลัง (ลูกฟูก) 1.5 บาท หนังสือพิมพ์ 2 บาท พลาสติกใส 9 บาท พลาสติกขุ่น 4 บาท กระป๋องอะลูมิเนียม 30 บาท กระป๋องสังกะสี 2 บาท เศษเหล็ก 7 บาท ขวดแก้ว 0.5 บาท แผ่นซีดี 15 บาท (ราคาอาจปรับเปลี่ยนตามราคาตลาด)

 

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว ดำเนินงานภายใต้นโยบายส่งขยะคืนสู่ระบบ ตามหมวดหมู่สิ่งแวดล้อมดี ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นการสนับสนุนเพิ่มช่องทางและสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมธนาคารขยะชุมชน สถานศึกษา ตลาดนัดขยะรีไซเคิล สร้างต้นแบบธนาคารขยะ รวมถึงโครงการความร่วมมือในการดูแลผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าหรือซาเล้งในเมือง 2.ส่งเสริมจุด Drop-off นัดรับขยะรีไซเคิลและขยะกำพร้า ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยร่วมมือกับสถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลาด และซูเปอร์มาร์เก็ต 3.สนับสนุนตู้รับคืนผลิตภัณฑ์รีไซเคิล จุดรับซื้อหรือสะสมแต้ม สามารถเปลี่ยนเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า หรือค่าบริการในภาคเอกชนที่ร่วมโครงการได้

 

ด้านนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยสถานการณ์ขยะในกรุงเทพฯ ว่า กทม.มีปริมาณมูลฝอยที่คัดแยกนำกลับมาใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิดรวมประมาณวันละ 1,557.15 ตัน แบ่งเป็น ปริมาณมูลฝอยรีไซเคิลวันละ 1,169.17 ตัน ปริมาณมูลฝอยอินทรีย์วันละ 407.98 ตัน โครงการปฏิทินเก่าเราขอ รวมน้ำหนัก 17,954.8 กิโลกรัม โครงการทรัพย์ทวีรีไซเคิล รวมน้ำหนัก 5,435.10 กิโลกรัม

 

โดยปี 2566 กทม.จัดเก็บขยะเฉลี่ยวันละ 8,775.12 ตัน ปัญหาที่พบคือ ไม่มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ประกอบกับจำนวนประชากรมากขึ้น ทำให้ขยะมากขึ้นตาม จากข้อมูลพบว่า ประชากร 1 คน สร้างขยะเฉลี่ยวันละ 1 กิโลกรัม ดังนั้น กทม.จึงเน้นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ภายใต้การขอความร่วมมือและการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล และการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เชื่อว่าหากหลายภาคส่วนร่วมมือกัน ขยะใน กทม.จะลดลง

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยการใช้งบประมาณจัดการขยะ ว่า ที่ผ่านมาจากการดำเนินโครงการไม่เทรวมและการส่งเสริมการคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล ทำให้ขยะในกทม.มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 กทม.ให้งบประมาณสำนักสิ่งแวดล้อมถึง 7,579 ล้านบาท ถือเป็น 1 ใน 3 ของสำนักที่ใช้งบประมาณสูงสุด ขณะที่งบประมาณสำนักการศึกษาอยู่ที่ 1,244 ล้านบาท หากสามารถจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ มีการคัดแยกนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสม จะช่วยลดงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมลง เพื่อนำไปเพิ่มด้านอื่นได้มากขึ้น