“ตำรวจ" จ่อขอหมายจับ“ตะวัน-ณัฐนนท์” หลังเลื่อนรับทราบข้อหาคดีป่วนขบวนเสด็จฯ อ้างติดเรียน ชี้ไม่มีเหตุอันควร ด้าน "ตะวัน" กับพวกรวมตัวที่ศาลอาญา หลังทราบข่าวตำรวจมาขอหมายจับ ประกาศท้าทายให้มาจับได้เลย ยันไม่หลบหนี เพิ่งทราบ 3 สน.ยื่นเพิกถอนประกัน ขณะที่"บิ๊กโจ๊ก" เร่งรัด "บช.น." ดำเนินคดี "ตะวัน" ชี้พฤติกรรมอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง 

 จากกรณีที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และนายณัฐนนท์ ไพโรจน์ ที่มีพฤติกรรมขับรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี สีขาว หมายเลขทะเบียน 8 กจ 1711 กรุงเทพมหานคร บีบแตรรถยนต์ลากยาว ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพยายามขับรถแซงขบวน  ขณะเสด็จฯ ผ่านทางร่วมต่างระดับมักกะสัน เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 67 ที่ผ่านมา โดยพนักงานสอบสวนสน.ดินแดง ได้ออกหมายเรียกตัวทั้ง 2 คน เป็นครั้งที่ 2 ต่อมาทั้ง 2 คนมอบหมายให้ทนายความของศูนย์สิทธิมนุษยชน ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนเป็นวันที่ 20 ก.พ.นี้ โดยอ้างว่าติดภารกิจเรื่องการเรียน
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.พ.67 พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เปิดเผยว่า หลังจากที่พนักงานสอบสวนและคณะทำงานในคดี ได้ประชุมเมื่อวานนี้พิจารณาเหตุผลแล้ว มีความเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรที่ผู้ต้องหาอ้างว่าติดเรียน พนักงานสอบสวนจึงเตรียมรวบรวมหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับทั้ง 2 คน โดยขณะนี้รวบรวมหลักฐานแล้วร้อยละ 80-90 ซึ่งทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ คาดว่าจะขอหมายจับได้ไม่เกิน 2 วันนี้ รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดรายอื่นว่ามีร่วมด้วยอีกหรือไม่

 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และนายณัฐชนน ไพโรจน์ บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมีพฤติกรรมพยายามขับรถแซงขบวนเสด็จ ในขณะที่ขบวนกำลังแล่นผ่านทางด่วน พร้อมบีบแตรรถยนต์ลากยาวระหว่างขบวนเสด็จผ่านและใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ขณะปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัย เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา บนทางด่วนย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งบุคคลทั้ง 2 มาปรากฎตัวอยู่ที่หน้าศาลอาญา หลังมีกระแสข่าวตำรวจอยู่ระหว่างการขอศาลออกหมายจับในความผิด 3 ข้อหา คือ 1.ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ 2. ก่อความเดือดร้อนรำคาญ 3.ม.116 ยุยง ปลุกปั่น

 น.ส.ทานตะวัน และนายณัฐชนน เปิดเผยว่า เดินทางมาเพื่อให้กำลังใจนักข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระ ที่พนักงานสอบสวนคุมตัวมาฝากขัง หลังถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาสนับสนุนการทำให้โบราณสถานเสียหาย จากการลงพื้นที่ทำข่าวเหตุการณ์ที่รั้ววัดพระแก้ววันที่ 28 มี.ค.66

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วงสายที่น.ส.ทานตะวันอยู่ที่ศาลอาญา นั่งอยู่กับกลุ่มเพื่อนบริเวณบันไดศาล และบริเวณริมขอบถนนทางเดินของศาล โดยมีมวลชนที่สนับสนุนน.ส.ทานตะวันมากอดปลอบให้กำลังใจ ซึ่งน.ส.ทานตะวันมีสีหน้านิ่ง ค่อนข้างเคร่งเครียด และรวมตัวอยู่กับกลุ่มเพื่อน ตลอดเวลา

 นอกจากนี้ ยังพบว่า นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่มีหมายจับในคดีทำให้โบราณสถานเสียหายของสน.พระราชวังมานั่งรวมอยู่ในกลุ่มด้วยเช่นกัน

 โดยช่วงหนึ่ง นายนภสินธุ์ ตะโกนออกมาขณะที่นั่งอยู่บริเวณหน้าศาล ว่า “จะจับก็มาเลยพี่ พวกผมไม่ได้หนี และมาแสดงตัวให้เห็นแล้วที่ศาล” จากนั้น นายนภสินธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ตั้งใจมาแสดงตัวตามหมายจับ ไม่มีความกังวลอะไร และไม่ได้หนีไปไหน และตนเองพึ่งได้รับแจ้งจากทนายความว่า ตำรวจได้เข้าไปตรวจค้นที่บ้านของตนเอง และบ้านของญาติด้วย

 ด้าน น.ส.ทานตะวัน กล่าวว่า วันนี้ตนตั้งใจเดินทางมาให้กำลังใจเพื่อนนักข่าวที่ถูกจับกุม และพึ่งมาทราบว่าตัวเองก็กำลังจะมีหมายจับ ดังนั้นก็จะไม่หนี ไม่กลัว หากจะจับก็มาที่ศาลอาญารัชดาฯ ได้เลย จะรออยู่ที่นี่ พร้อมมองด้วยว่าก่อนหน้านี้มีการออกหมายเรียกแค่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ เป็นความผิดลหุโทษ จ่ายค่าปรับก็จบ แต่วันนี้ไม่ทราบว่าจะมีการยัดข้อหาอะไรให้ตนเองบ้าง รวมถึงไม่ทราบว่าจะมีหมายจับกี่ใบ

 สำหรับประเด็นที่จะมีการเพิกถอนการประกันตัวของ 3 สถานีตำรวจนครบาลนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกระทันหัน ยังไม่ทันตั้งตัว และไม่ได้คิดว่าจะสู้ต่อไปอย่างไร แต่ยืนยันว่าจะสู้ต่อไปแน่นอน ส่วนกรณีที่มีความพยายามที่จะปลุกปั่นว่ามีคนอยู่เบื้องหลังปลุกเยาวชน ซึ่งตนเองยืนยันว่าไม่มีใครและกลุ่มใดอยู่เบื้องหลังใดๆทั้งสิ้น เพราะพวกตนเองมีแต่อุดมการณ์ และออกมาด้วยใจล้วน เพื่อเป็นการตั้งคำถามในการยืนยันสิทธิและเสรีภาพ และมองว่าปัจจุบันคนไทยกำลังตกเป็นเหยื่อไอโอจากภาครัฐ ส่วนที่มีการพยายามโยงพรรคการเมืองมาถึงกลุ่มพวกตนเองนั้น ยืนยันว่าไม่มีพรรคการเมืองใดๆเช่นเดียวกัน

 ส่วนการมองที่เหมือนมีการพยายามปลุกปั่นฝั่งขวาขึ้นมาหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ได้กังวลและไม่ได้กลัวอะไร เพราะยืนยันในจุดยืนเดิม แต่ขออย่าถอยหลังกลับไปในปี2519 และขออย่าตกเป็นเหยื่อของขบวนการไอโอ ขณะที่การดูแลความปลอดภัย บริเวณพื้นหน้าศาลอาญา มีตำรวจศาล และเจ้าหน้าที่ รปภ.ของศาล กระจายกำลัง คอยสังเกตุการณ์และดูแลความสงบเรียบร้อย พร้อมนำแผงเหล็กมากั้นไว้บริเวณ ทางขึ้นบันไดศาล

 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระได้เปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภาหารือถึงปัญหาต่างๆ โดยส่วนใหญ่ได้หารือถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มทะลุวังป่วนขบวนเสด็จฯ 

 โดย นายอนุศักดิ์ คงมาลัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หารือว่าขอฝากไปยังนายกฯว่าในสถานการณ์ในปัจจุบันในการใช้สิทธิเสรีภาพต่างๆให้สอดคล้องกับกฎหมายอย่างไร ซึ่งรัฐบาลเคยต่อสู้เรื่องนี้มาเมื่อมีอำนาจแล้วจะบริหารสถานการณ์ทางสังคมปัจจุบันอย่างไร เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบกระเทือนพสกนิกรคนไทยจำนวนมาก เพราะมีการใช้สิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่งในลักษณะที่นำไปสู่การไม่อดทนของคนที่ไม่เห็นด้วยและนำไปสู่การโต้แย้ง และบาดหมางกัน เกินขอบเขต กระทำการไม่เหมาะสมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงฝากถามไปยังภาครัฐจะมีแนวทางดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ได้ติดตามกลุ่มที่แสดงออกเรื่องนี้อย่างไร และจะทำความเข้าใจ

 ด้าน นายมณเฑียร บุญตัน สว. กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลดำเนินการเชิงรุก และหาแนวทางการทำให้ผู้ที่มีความเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้ ต้องสร้างกลไกแห่งสันติ ใช้หลักเหตุผลไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง หรือการกระทำที่ยั่วยุของกลุ่มบุคคลที่จะกลายเป็นความขัดแข้งเหมือนในอดีต ขณะที่การดำเนินคดีต้องเป็นไปตามครรลองของกฎหมาย

 ขณะที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สว. กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อขบวนเสด็จฯ ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะกระทบต่อจิตใจคนไทยทั้งประเทศ และหากกลุ่มบุคคลที่กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย และอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากมีผู้อยู่เบื้องหลัง จึงขอให้นายกฯ และรัฐบาลมีมาตรการป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ให้เกิดซ้ำอีก ต้องปราบปรามผู้เกี่ยวข้อง และวางแนวทางลดการใช้ช่องว่างของกฎหมายให้รัดกุมมากขึ้น

 วันเดียวกัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีวิทยุราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0001(มค)/98 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง ผบช.น. (ผู้รับปฏิบัติ) และ ผบ.ตร., ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในสายงานมั่นคง (ผู้รับทราบ) มีใจความว่า ด้วยได้ปรากฏข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เสนอเรื่องที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี กับพวก ได้ขับรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี สีขาว หมายเลขทะเบียน 8 กจ 1711 กรุงเทพมหานคร บีบแตรรถยนต์ลากยาว ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเสด็จผ่านทางร่วมต่างระดับมักกะสัน

 โดยขับรถยนต์ด้วยความเร็วเพื่อไปให้ทันขบวนเสด็จฯ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รถปิดท้ายได้สกัดกั้นรถยนต์คันดังกล่าวไว้ จนได้มีการโต้เถียง แม้ต่อมามีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ยังปรากฏข่าวว่ากลุ่มบุคคลของ น.ส.ตะวัน มีการนัดหมายทำกิจกรรมที่สกายวอล์ค สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เพื่อทำโพลถามความคิดเห็นในหัวข้อ "คุณคิดว่าขบวนเสด็จฯ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่" อีกด้วย นั้น

 พฤติกรรมดังกล่าว อาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข เป็นภัยต่อความมั่นคงที่สามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบของสังคม จึงให้ บช.น. ดำเนินการ ดังนี้
 
1. กำกับ ติดตามและเร่งรัดดำเนินการในทุกข้อหาความผิด รวมทั้งให้พิจารณาพฤติการณ์ก่อนการกระทำผิด ขณะกระทำผิด และหลังจากกระทำความผิด ว่ามีการยุยงปลุกปั่นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและให้ผู้อื่นล่วงละเมิดกฎหมาย ที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ด้วยหรือไม่ 2. กำหนดแนวทางในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรความสงบของสังคม เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก