วันที่ 15 ก.พ.2567 เวลา 10.45 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนกรณีการกัดเซาะชายฝั่ง ของนายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ถามรมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ว่าเนื่องจากการเกิดมรสุมทุกปีปรากฎว่าตลอดแนวชายฝั่งของอ.ปากพนัง และอ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช  เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายทั้งทรัพย์สิน และบ้านเรือน แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นปัญหาที่ซ้ำซากถึง 8 ปีแล้ว
      
“เมื่อคืนผมนอนไม่หลับว่ารัฐมนตรีจะมาตอบกระทู้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาท่านมาบ้างไม่มาบ้าง และวันนี้ รมว.ทรัพยากรฯ มาตอบกระทู้ของผมก็รู้สึกยินดี ปลื้มปิติ กับชาวบ้านของลุ่มน้ำปากพนัง จึงอยากถามว่ากระทรวงทรัพย์ฯ จะแก้ปัญหานี้อย่างไรให้เป็นรูปธรรมชัดเจน รวดเร็วอย่างไร และขอให้ทบทวนการทำอีโอเอในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบซ้ำซาก”นายพิทักษ์เดช กล่าว

ด้านพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.ทรัพยากรฯ มาตอบกระทู้สดด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ว่า การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง อ.ปากพนังอ.หัวไทรนั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง มีโครงการสร้างเขื่อนหินใหญ่เรียงเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่เนื่องจากต้องมีการทบทวนโครงการ เพราะกังวลเรื่องผลกระทบจากการดำเนินโครงการ และอาจจะกระทบไปถึงบริเวณปลายแหลมตะลุมพุกได้ แต่ชาวบ้านอยากได้เขื่อนกันคลื่นที่มีความแข็งแรง คงทน ถาวร แต่ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรรมชาติทางชายฝังได้แก้ไขโดยการปักรั้วไม้ชะลอคลื่น ซึ่งไม่มีความถาวร และอยู่ได้ไม่นาน ชาวบ้านไม่ค่อยเห็นด้วย ประกอบกับประกาศกระทรวงฯ กำหนดว่าการสร้างเขื่อนกั้นคลื่นทุกขนาดต้องทำอีไอเอ จึงทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า
        
“ยืนยันว่ากระทรวงฯให้ความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งได้ดำเนินการแก้ปัญหาลดความเดือนร้อนแล้ว ส่วนอ.ปากพนัง มีชายฝั่งที่สมบูรณ์และสวยงาม การแก้ปัญหาต้องไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง ทางกระทวงฯจึงมอบหมายให้นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ไปดำเนินการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหรือประมาณปลายเดือนมีนาคม ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวทางกระทรวงฯพยายามเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่”พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว