วันที่ 17 ก.พ.67 ณ ห้อง Lilavadee โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนา เรื่อง “ศูนย์ความเป็นเลิศ : การบูรณาการเพื่อการวิจัย ส่งมอบวิทยาการ และพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูง” ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เกษตรสมัยใหม่สำหรับผลผลิตการเกษตรมูลค่าสูง (Hub of Knowledge in Modern Agricultural Science for High-Value Crops) จัดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

การประชุมเสวนา เรื่อง “ศูนย์ความเป็นเลิศ : การบูรณาการเพื่อการวิจัย ส่งมอบวิทยาการ และพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูง” จัดขึ้นเพื่อทบทวนกิจกรรมของศูนย์ความเป็นเลิศฯ ในภูมิทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างกลไก และกิจกรรมสนับสนุน ให้มีการบูรณาการระหว่างความเชี่ยวชาญ ความรู้ ระหว่างสมาชิกในเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศฯ เพื่อตอบสนองต่อการเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เกษตรสมัยใหม่สำหรับผลผลิตการเกษตรมูลค่าสูง และภารกิจศูนย์ฯ และตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูงในภาคการผลิตด้านเกษตรและอาหาร ประกอบด้วยการบรรยาย เรื่อง “มุมมองจาก วช. : ความคาดหวังของศูนย์กลางความรู้ (Hub of Knowledge)” โดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะทำงานที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และ ศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นอกจากนี้ยังมีการบรรยายเรื่อง “โจทย์การผลิตและพัฒนากำลังคน ตอบสนองหมุดหมายที่ 12 และ 1” โดย ผศ.ดร. สุขกฤช นิมิตรกุล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การเสวสนาเรื่อง “ถอดบทเรียน งานวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศฯ สู่การใช้ประโยชน์” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากโครงการต่าง ๆ และการเสวนากลุ่ม

สำหรับศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มีเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศที่ทำงานร่วมกันระหว่างสถาบัน อุดมศึกษาทั้ง 8 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มหาวิทยาลัยแกนนำ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภายใต้ภารกิจของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การถ่ายทอดใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม