พระบารมีปกเกล้าฯ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช : พระมหากษัตริย์ที่ทรงเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรบนผืนแผ่นดินไทย (๒) ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดพระองค์หนึ่งในโลก ด้วยทรงมีพระเมตตาและพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับหลักการทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ความตอนหนึ่งว่า“...เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติและภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือนักพัฒนาจะต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และการเคารพในเพื่อนมนุษย์...” ด้วยเหตุนี้ พระราชกรณียกิจและโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงมุ่งเน้นที่การพัฒนาที่ตัวคน ด้วยทรงเห็นว่า หากประชาชนในประเทศมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมด้วยสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ก็ย่อมส่งผลให้เป็นบุคลากรที่มีความพร้อมในการร่วมเสริมสร้างและพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป ในวันนี้ กระผมขอนำเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในด้านต่างๆ ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายและทรงบำเพ็ญเพื่อปวงชนชาวไทยที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ ดังนี้ครับ ด้านการศึกษา ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการศึกษาด้วยทรงตระหนักว่า การศึกษานั้น เป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาความคิด สติปัญญาความประพฤติ และคุณธรรมของคนในชาติ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ดังจะเห็นได้จากการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงเรียนสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร การที่ทรงให้จัดตั้ง โรงเรียนจิตรลดา เพื่อเปิดโอกาสให้พระราชโอรส พระราชธิดา และบุตรข้าราชบริพารในพระราชวังได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน นอกจากนี้ ยังพระราชทานทุนการศึกษาต่างๆ อาทิ ทุนอานันทมหิดล ซึ่งเป็นทุนที่พระราชทานให้บัณฑิตสาขาแพทยศาสตร์ที่เรียนดี ให้มีโอกาสไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ และต่อมาในปี ๒๕๐๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นมูลนิธิอานันทมหิดล ขยายสาขาวิชาเพิ่มขึ้น รวมทั้งทรงฟื้นฟูทุนเล่าเรียนหลวงที่รัชกาลที่ ๕ ก่อตั้งขึ้น พระราชทานแก่นักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมที่เรียนดีให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ และยังทรงให้จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมด้วย ด้านการศาสนา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงเกื้อกูลค้ำจุนทุกศาสนาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยทรงเชื่อมั่นว่า ทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ดังจะเห็นได้ว่า ทรงสนับสนุน ตลอดจนพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อสร้าง ซ่อมแซม ทำนุบำรุงมัสยิด วัดในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งเสด็จฯเยือนนครวาติกันในปี ๒๕๑๒ เพื่อทรงกระชับพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับคริสตจักร ณ กรุงวาติกัน ด้วย ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและประเพณี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ซึ่งเป็นมรดกที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และตกทอดมายังอนุชนรุ่นปัจจุบัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของชาติ เพื่อรักษาสมบัติล้ำค่าของประเทศให้คงอยู่ต่อไป ดังจะเห็นได้ว่า ในด้านศิลปวัฒนธรรมไทยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้รักษาและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทยที่กำลังสูญหายจากสังคม เช่น ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำและซ่อมแซมงานศิลปกรรมต่างๆ ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้อชุดไทยพระราชทาน และทรงปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนชาวไทยเห็นความสำคัญของภาษาไทย เป็นต้น ส่วนในด้านการรักษาประเพณีไทยนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษาพระราชประเพณีประจำปีตามแบบแผนที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมา และทรงให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีบางอย่างที่เลิกปฏิบัติไปแต่ยังเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและบ้านเมืองใหม่ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีในมงคลสมัยครบรอบการเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นต้น ด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้หลายวิธี เช่น การปลูกป่าในใจคน การปลูกฝังให้ราษฎรเข้าใจและเรียนรู้ถึงประโยชน์ของป่าและการอยู่ร่วมกันกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยกัน หลักการปลูกป่า ๓ อย่าง ให้ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง ซึ่งเป็นแนวคิดของการผสมการอนุรักษ์ดิน น้ำ และฟื้นฟูป่าไม้ไปพร้อมๆ กัน การปลูกป่าทดแทน และการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเป็นต้น ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการอนุรักษ์ดิน ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า การป่าไม้กับการอนุรักษ์ดินและทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันเสมอ จึงควรแก้ปัญหาโดยรวมมากกว่าจะคำนึงถึงการแก้ปัญหาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง จึงพระราชทานหลักการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างสูงสุด เช่น การพระราชทานโครงการฝนหลวง เพื่อบริหารจัดการน้ำแล้งการที่ทรงมีพระราชดำริบริหารจัดการน้ำท่วม โดยการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ การสร้างทางผันน้ำ การปรับปรุงสภาพลำน้ำ การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม โดยใช้โครงการแก้มลิง ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมเข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานแนวทาง เมื่อปี ๒๕๓๘ โครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นทางเบี่ยงน้ำ โดยเฉพาะในช่วงก่อนน้ำทะเลหนุน เป็นต้น ในฉบับต่อไป กระผมขอนำเรียนพระราชกรณียกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานทดแทนและด้านการอนุรักษ์พลังงานอื่นๆ รวมทั้งด้านการพัฒนาเพื่อความมั่นคง เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้