"ทักษิณ" ออกจากบ้านจันทร์ส่องหล้า นั่งรถเข็นเข้าเซ็นรับทราบนัดคดีผิดมาตรา 112 ด้าน "โฆษกอัยการสูงสุด" แถลง “อสส.”สั่งสอบสวนเพิ่มตามหนังสือขอความเป็นธรรมของอดีตนายกฯ อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว วงเงินประกัน 5 แสนบาท กรณีมีคำสั่งอายัดตัวหลังการพักโทษ นัดฟังคำสั่งพิจารณาคดี 10 เม.ย.นี้ "ภูมิธรรม"เผย "ทักษิณ"เข้าเฝือก"เส้นเอ็นไหล่ขาด" เพราะอายุเยอะ ขณะที่"กิตติศักดิ์" ลั่น "กรมราชทัณฑ์-รมว.ยุติธรรม" ต้องถูกตรวจสอบแน่นอน

 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 19 ก.พ.67 เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการปล่อยตัวพักโทษสวมหน้ากากอนามัยและนั่งรถเข็น (วีลแชร์) เดินทางมาพบอัยการ เพื่อมาเซ็นรับทราบนัดของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 8 เนื่องจากสำนวนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด ในความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21พ.ค.58 คดีนี้มีอายุความ 15 ปี ขาดอายุความ 21พ.ค.73 เหตุเกิด ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ และประเทศไทยต่อเนื่องกัน

 ต่อมา เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม 100 ปี ชั้น 4 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ถนนรัชดาภิเษก นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา พร้อมด้วย นายประยุทธ เพรชคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ,นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกฯ ,นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกฯ และนายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ร่วมกันแถลงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 โดน นายประยุทธ กล่าวว่า วันนี้ประมาณ 08.30 น. พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นำตัว นายทักษิณมาส่งให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา โดยมี นายปรีชา สุขสงวน อธิบดีอัยการ และนายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นผู้รับตัวจากพนักงานสอบสวน ปอท. โดยคดีนี้ นายทักษิณได้ร้องขอความเป็นธรรมผ่านพนักงานสอบสวนตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาที่โรงพยาบาลตำรวจ 

 ล่าสุด อัยการได้พิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแล้วเห็นว่าคดีมีประเด็นที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม ตามหนังสือที่ร้องขอความเป็นธรรม จึงมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม และนัดให้มาฟังคำสั่งทางคดีในวันที่ 10 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 8 อัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก

 นายประยุทธ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายทักษิณได้รับการปล่อยตัวจากกรมราชทัณฑ์ ในคดีอาญาเรื่องอื่น เนื่องจากได้รับการพักการลงโทษทางพนักงานสอบสวน ปอท. ได้ไปรับตัวนายทักษิณตามหนังสืออายัดตัวของพนักงานสอบสวนลงวันที่ 28 ส.ค.66 และเมื่อรับตัวมาแล้วพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวชั่วคราวไปในวันเดียวกัน ส่วนหลักประกันที่นายทักษิณใช้ในการประกันตัวเป็นหลักทรัพย์ในสมุดบัญชีที่ได้รับการรับรองจากธนาคารมีเงินจำนวน 500,000 บาท ซึ่งทางอัยการจะอายัดบัญชีดังกล่าวไว้
 นายประยุทธ กล่าวด้วยว่า สำนวนเดิมที่มีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้อง เป็นคำสั่งแรก ตั้งแต่นายทักษิณยังไม่กลับเข้าประเทศไทย แต่เมื่อนายทักษิณกลับเข้าประเทศไทยและมีการแจ้งข้อกล่าวหากันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.รวมถึงมีการส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ทำให้คณะพนักงานสอบสวนได้มีการสอบสวนสำนวนใหม่ จึงทำให้วันที่ 10 เม.ย.นี้ 

 เมื่อถามย้ำว่า หากวันดังกล่าวมีคำสั่งออกมาจะต้องทำอย่างไร นายประยุทธ กล่าวว่า คดีนี้ถือว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร หากวันที่ 10 เม.ย.ทางอัยการมีคำสั่งเห็นสั่งฟ้อง จะต้องนำตัวนายทักษิณเข้าสู่กระบวนการศาลทันที แต่หากมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว ถือว่าสิ้นสุดในชั้นของอัยการไม่ต้องส่งสำนวน ไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาเหมือนกับคดีอื่นๆ เนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ที่อัยการสูงสุดมีอำนาจสอบสวนและพิจารณาเด็ดขาด
 เมื่อถามถึงหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่นายทักษิณร้องมามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง นายประยุทธ กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้

 สำหรับข้อกล่าวหาจากสังคมว่ามีการให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่นายทักษิณหรือไม่นั้น นายประยุทธ กล่าวว่า คดีนี้มีอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่อัยการสูงสุด จึงขอให้ไปดูประวัติการทำงานของอัยการว่า มีการทำงานไปในทิศทางใดและขอให้สังคมมั่นใจในกระบวนการพิจารณาของอัยการ แม้ว่าคดีดังกล่าวจะมีผู้ต้องหาเป็นบุคคลสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ

 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ตอบข้อสักถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตจากสังคมว่านายทักษิณไม่ได้ป่วยจริง โดยย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า “ไม่ป่วยจริงได้ไง ที่ใส่เฝือกเพราะเส้นเอ็นไหล่ขาด ซึ่งผมก็เคยมีประสบการณ์ตรงนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ก็เคยอยู่ในสภาวะนี้ คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ใช้ชีวิตอยู่มานาน มันจะมีเส้นเอ็นที่ขาด อย่างของผมขาดยุ่ยไปหมดแล้ว ต้องผ่าตัด ต้องรักษาตัว ใส่ปลอกแขนห้อยอยู่ประมาณ 6-7 เดือน เมื่อหายแล้วก็ต้องระมัดระวังการใช้ชีวิตอยู่สักพักหนึ่ง คนเจ็บป่วยให้กำลังใจเขาบ้างเหอะ อย่าไปมองว่าเขาจะสร้างภาพ ถ้าคนวัยสัก 10 ปีแล้วมาห้อยแขนแบบนี้ ใส่ต้นคอ แล้วค่อยบอกว่ามันผิดปกติ แต่คนอายุ 70 ปีทำแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย”
 
ที่รัฐสภา นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายทักษิณได้รับการพักโทษกลับบ้าน ว่า เหนื่อยใจ ตนเคยเรียนแล้วว่านายทักษิณเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก มีหลายเรื่องที่ถูกบันทึกไว้ในโลกนี้ เพราะฉะนั้นการทำดี ทำชั่ว คนอื่นไม่รู้แต่ใจตัวเองต้องรู้ คือการตกนรกทั้งเป็น นายทักษิณจะต้องได้รับกรรมตรงนี้อยู่แล้ว

 ผู้สื่อข่าวถามว่า อาการป่วยของนายทักษิณยังไม่มีใครให้ความชัดเจน แต่เมื่อดูภาพที่ออกมาแล้วมองอย่างไร นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ถ้าจิตใจเป็นธรรมและเป็นกลางจริงๆ ตนและประชาชนทั่วไปดูก็รู้ว่านายทักษิณ ไม่ได้ป่วยจริง แต่การที่จะไปปรักปรำตรงนั้นกฎหมายบ้านเมือง บอกแล้วว่า นายทักษิณมาตามกฎหมายทุกอย่าง แต่นั่นหมายถึงว่าคนที่บอกว่ามาตามกฏหมายทุกอย่างจะต้องถูกตรวจสอบ ที่ชัดๆคือกรมราชทัณฑ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะต้องถูกตรวจสอบอย่างถึงที่สุด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนติดตามอยู่ ว่ากรณีเช่นนี้ การทำผิดศาลตัดสินแล้วไม่ต้องจำคุกเลยแม้แต่วันเดียว อย่างนี้จะเป็นธรรมกับนักโทษในเรือนจำกว่า 200,000 คนหรือไม่

 "บางครั้งเขาไม่มีจะกิน ไปขโมยนมกระป๋องในห้าง ยังต้องถูกจำคุก แต่นี่นายทักษิณมีคดีที่ศาลตัดสินแล้วว่าทุจริต แล้วหนีไปต่างประเทศ 16-17 ปี แต่กลับมาไม่ต้องติดคุกเลยแม้แต่วันเดียว จึงขอถามประชาชนว่ากรณีของนายทักษิณถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกหรือไม่ และถ้านายทักษิณยังทำตัวอยู่เหนือกฎหมายอย่างนี้ ผมเป็นห่วงบ้านเมืองว่าความขัดแย้ง ความรุนแรงของประชาชนจะมากมายแค่ไหน ซึ่งเป็นห่วงจริงๆ" นายกิตติศักดิ์ กล่าว

 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายทักษิณได้รับการพักโทษและกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า ว่า ประเด็นของกระบวนการพักโทษนั้นแม้จะเป็นหลักการที่ราชทัณฑ์ใช้กับนักโทษทั่วไป แต่พี่น้องประชาชนมีความติดใจในเรื่อง "การจำคุกจริงหรือไม่" และในเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เคยเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กับคณะ ต่อสภาชุดที่ผ่านมา แต่ญัตติได้ตกไปเนื่องจากหมดวาระของสภาชุดดังกล่าว 

 ดังนั้น ตนในฐานะกรรมการบริหารพรรคจะได้นำกฎหมายฉบับนี้มาปรับปรุงและเสนอต่อที่ประชุมส.ส. โดยจะให้มีการแก้ไขในเรื่องอำนาจในบางเรื่องของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม และรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อพรรคพิจารณาแล้วจะได้ยื่นเป็นญัตติใหม่ในการประชุมสภาชุดนี้ ซึ่งสาระสำคัญของร่างฯ ฉบับนี้ ได้มองเห็นถึงปัญหาของการบังคับโทษในส่วนของกรมราชทัณฑ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง เนื่องจากเมื่อศาลตัดสินไปแล้ว แต่ศาลไม่มีอำนาจในการพิเคราะห์พิจารณาว่าจะให้มีการลดโทษ หรือพักโทษ กับนักโทษคดีนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวควรจะมีโครงสร้างที่มีตัวแทนจาก ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดิน คกก.สิทธิมนุษยชน เป็นต้น

 "ไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าเป็นโรคเช่นเดียวกับคุณทักษิณ ต่อไปอาจจะมีคนอ้างในระหว่างที่ถูกคุมขังได้ว่า ผมเป็นโรคคุณทักษิณ เมื่อเป็นโรคคุณทักษิณก็สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีใครรู้ ไม่ต้องมีใครทราบว่าจะรักษายังไง ผมไม่อยากให้เกิดทักษิณโมเดลในปลายทางของกระบวนการยุติธรรม" นายราเมศ กล่าว