วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.ดินแดง นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตจอมทอง เปิดเผยภายหลังการประชุมจัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเพื่อสำรวจและติดตามพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร ว่า จากการประชุมร่วมกับตัวแทนสำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ ส.ก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ มีมติให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการฯดังกล่าว โดยมี ดร.เมธาวี ธารดำรงค์ ส.ก.เขตปทุมวัน เป็นรองประธานคนที่ 1 นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย เป็นรองประธานคนที่ 2 สำนักการโยธาและสำนักการระบายน้ำร่วมเป็นกรรมการ

 

นายสุทธิชัย กล่าวว่า จุดประสงค์การตั้งคณะกรรมการฯครั้งนี้ ได้ผ่านการอภิปรายสนับสนุนญัตติจากสภากทม.แล้ว เมื่อวันที่ 7 ก.พ.67 เพื่อทำหน้าที่ติดตามการดำเนินงานของเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องบ้านรุกล้ำพื้นที่ริมคลองซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่า มีการดำเนินงานรื้อถอนล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงบประมาณป้องกันน้ำท่วมของกทม. เบื้องต้น คณะกรรมการฯ จึงได้วางแผนดำเนินงานภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูล เช่น ผลการรื้อถอน ผลการดำเนินคดี จำนวนบ้านรุกล้ำที่มีอยู่ทั้งหมด พร้อมตรวจสอบสาเหตุของปัญหาและความล่าช้าที่เกิดขึ้น ซึ่งกินเวลานับสิบปี รวมถึงติดตามด้วยว่ามีการเอื้อประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งหรือไม่ เช่น การสร้างหมู่บ้านทับลำรางสาธารณะ

 

โดยจะเริ่มเชิญสำนักงานเขตมาร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลและหาแนวทางแก้ไข สัปดาห์ละ 2 เขต จนครบ 50 เขต พร้อมติดตามผลการดำเนินงาน เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักงานเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ที่จะต้องดำเนินการตามกรอบกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แต่ที่ผ่านมาพบปัญหาข้าราชการสำนักงานเขตมีการโยกย้าย ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน รวมถึงขาดการเก็บข้อมูลอย่างครบถ้วน จึงเกิดปัญหาการยึดพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล และเกิดความขัดแย้งกับประชาชนในการรื้อถอน

 

นายสุทธิชัย กล่าวว่า เมื่อมีการศึกษาและจัดเก็บข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะเร่งรัดให้แต่ละเขตดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่สาธารณะ หากยังมีความล่าช้า ไม่ดำเนินการ จะเสนอผลการเร่งรัดและรายงานในที่ประชุมสภากทม.เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงสาเหตุปัญหาที่แท้จริงของแต่ละเขตต่อไป

 

“อยู่ที่สำนักงานเขตว่าจะเอาจริงเอาจังหรือไม่ หากเอาจริงเราก็จะได้ที่หลวงคืน บางพื้นที่ถูกกลบลำรางสาธารณะที่ประชาชนเคยใช้ร่วมกันมากว่า 30 ปี และมีอีกหลายพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกัน เราต้องเอาคืน“ ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเพื่อสำรวจและติดตามพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร กล่าว