วันที่ 20 ก.พ.ที่ บก.สส.บช.น.พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผบก.สส.ภ.2 เปิด้ผยว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2566 ได้มีผู้เสียหาย เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา โดยแจ้งว่า ได้มีโทรศัพท์จากกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซนเตอร์) โทรเข้ามายังเบอร์ผู้เสียหาย โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐด่านศุลกากร ซึ่งตรวจสอบพบว่าผู้เสียหายมีพัสดุที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเอกสารเกี่ยวกับธนาคารมากกว่า 30 บัญชี จากนั้นได้หลอกให้ผู้เสียหายติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอม และข่มขู่ต่ออีกว่าจะดำเนินคดีกับผู้เสียหายในความผิดฐานยาเสพติดและฟอกเงิน ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวและหลงเชื่อโอนเงินไปยังกลุ่มบัญชีของแก๊งคอลเซนเตอร์จำนวนหลายครั้ง รวมเสียหายเป็นเงิน 2,050,907 บาท ภายหลังการแจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนได้เสนอเรื่องตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 182/2566 มายังกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยจากการสืบสวนยังพบข้อมูลอีกว่า มีผู้เสียหายซึ่งอยู่ในพื้นที่ของตำรวจภูธรภาค 2 อีก 1 ราย ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองปรือ จ.ชลบุรี มีพฤติการณ์หลอกลวงแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเช่นเดียวกัน โดยผู้เสียหายได้สูญเงินไปจำนวน 723,000 บาท อีกด้วย 

เนื่องด้วย พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภ.2 ได้เห็นถึงความสำคัญของความร้ายแรงของพฤติการณ์ในการหลอกลวงครั้งนี้ ซึ่งคนร้ายได้มุ่งหมายหลอกลวงด้วยการแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว อีกทั้งยังทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม เพื่อสนองนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.อิทธิพร โพธิ์ทอง รอง ผบช.ภ.2 ซึ่งเป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ของตำรวจภูธรภาค 2 เข้ามาดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยเฉพาะ ซึ่งต่อมา ได้มีการออกคำสั่งตำรวจภูธรภาค 2 ที่ 40/2567 ลงวันที่ 29 ม.ค. 2567 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมี พล.ต.ต.อิทธิพร โพธิ์ทอง รอง ผบช.ภ.2 เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน และ พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผบก.สส.ภ.2 เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน
 
   

 จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบภาค 2 พบว่า กลุ่มคนร้ายได้กระทำกันเป็นขบวนการ ในลักษณะเครือข่ายแก๊งคอลเซนเตอร์ ได้หลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีต่างๆหลายบัญชี จากนั้นได้โอนเงินไปยังบัญชีที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันไปเป็นทอดๆ แถบจะให้ทันดีทันใด จากการขยายผลพบยังอีกว่าได้มีผู้เสียหายคนอื่นๆที่ถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกันอีกจำนวนหลายคน กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และจากการสืบสวนดังกล่าว ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายจับกลุ่มคนร้ายแก๊งคอลเซนเตอร์นี้ จากศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 13 หมายจับ และหมายจับจากศาลจังหวัดพัทยา จำนวน 6 หมาย ในวันที่ 16 ก.พ. 2567 (รวมหมายจับ 19 หมาย , 18 คน) ในฐานความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น , โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบนั้น”
ซึ่งเมื่อมีการอนุมัติหมายจับจากศาลแล้วนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบภาค 2 ได้มีการติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดในทันที โดยจากผลการปฏิบัติ ระหว่างวันที่ 16 – 20 ก.พ. 2567 ได้มีการจับผู้ต้องหาแล้ว จำนวน 9 ราย , 9 หมายจับ โดยทั้งหมดเป็นเจ้าของบัญชีม้าในเครือข่ายแก๊งคอลเซนเตอร์นี้ มีการรับจ้างเปิดบัญชีเพื่อนำไปใช้ในการกระทำความผิด บัญชีละ 500 – 2,000 บาท และได้อายัดตัวผู้ต้องหาที่เรือนจำอำเภอสวรรคโลก จ.สุโขทัย อีก 1 ราย , 2 หมายจับ ในส่วนของผู้ต้องหาคนอื่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบภาค 2 ยังคงเร่งดำเนินการติดตามจับกุมเพื่อมาดำเนินตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด และสืบสวนขยายผลไปยังผู้ร่วมกระทำความผิดรายอื่นในเครือข่ายแก๊งคอลเซนเตอร์นี้ต่อไป