วันที่ 21 ก.พ.2567 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาฯ พร้อมด้วย สส.พรรคก้าวไกล แถลงคัดค้านการเสนอกฎหมายประกันสังคมซ่อนเนื้อร้ายทำลายการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม จากกรณีที่กระทรวงแรงงานจะเสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม เข้าที่ประชุมครม.ว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีการแก้ไขจากฉบับเดิมหลายมาตรา โดยเฉพาะการแก้ไขที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้าง หรือบอร์ดประกันสังคม โดยให้เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นแบบเลือกตั้งไปเป็นแบบแต่งตั้ง พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 

นายเซีย กล่าวว่า ตามเนื้อหาในร่างกฎหมาย "หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน" เนื่องจากเมื่อก่อนนั้น การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมจะมาจากการเลือกตั้งของผู้แทนสหภาพแรงงาน 1 สหภาพแรงงานมี 1 เสียง ไม่ว่าสหภาพแรงงานจะมีสมาชิก 5,000 คน หรือมีสมาชิกแค่ 50 คน ก็มี 1 เสียงเท่ากัน ดังที่ทุกท่านทราบ ประเทศไทยมีจำนวนสหภาพแรงงานเพียงแค่ราว 1,400 แห่งเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก มีสถานประกอบการจำนวนมากที่ไม่มีสหภาพแรงาน และมีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่ไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและผู้ประกันตนส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้น จึงไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งๆ ที่พวกเขาจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกๆเดือน

นายเซีย กล่าวต่อว่า  ตนเป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมกับพี่น้องแรงงานในการติดตามทวงถามต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้องหลายต่อหลายครั้ง เมื่อตนได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. เข้าสภาฯ ตนก็ได้อภิปรายติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดนายบุญส่ง ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการประกันสังคม ได้ชี้แจงต่อสภาฯเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ว่า สำนักงานประกันสังคมจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยตรงแบบ 1 ผู้ประกันตน 1 สิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เลขาฯ ประกันสังคมชี้แจงแล้ว ข่าวเรื่องการเลือกตั้งก็เงียบหายไปอีก โดยสำนักงานประกันสังคมไม่เคยสื่อสารเรื่องความคืบหน้าใดๆ ให้ผู้ประกันตนได้รับทราบอีกเลย จนถึงช่วงต้นเดือน ต.ค. 2566 ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เริ่มลงทะเบียนภายในวันที่ 12-31 ต.ค. 2566 มิฉะนั้น จะหมดสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ไปโดยปริยาย

ระหว่างนั้นมีผู้ประกันตนน้อยคนที่รับรู้เรื่องการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หรือขั้นตอนการลงทะเบียนตามที่สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดไว้ ส่งผลให้หลายหน่วยงานตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานประกันสังคม รวมไปถึงผลลัพธ์ที่ทำให้มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพียงประมาณ 10% จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่หลายล้านคนจะเสียสิทธิ์ของตนในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้สำนักงานประกันสังคมได้ขยายระยะเวลาการลงทะเบียนถึงวันที่ 10 พ.ย. 2566 ก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2566

นายเซีย กล่าวด้วยว่า แต่เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 การเลือกตั้งสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศผลการอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากนั้นข่าวก็เงียบหายไปอีกเช่นเคย จนกระทั่งประกาศรับรองในวันที่ 23 ม.ค. 2567 ผลกลับปรากฏว่า ผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 7 ไม่ใช่คนเดิมตามประกาศแรก จึงทำให้มีคำถามมากมาย ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผลคะแนนการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ประชาชนทั่วไปสามารถมองเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ทั้งกระบวนการประชาสัมพันธ์จัดการเลือกตั้ง กติกาที่กีดกันผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติออกจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้เลือกตั้ง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง การรับรองคะแนนที่ล่าช้าไปอย่างต่ำ 2 เดือน และผลการเลือกตั้งทางการ ที่จู่ๆ ก็เปลี่ยนตัวกรรมการไป 1 คน

“ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เราเห็นว่า แม้มีการเลือกตั้งประกันสังคมแล้ว แต่สภาพปัจจุบันก็ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคในการใช้สิทธิออกเสียงของผู้ประกันตน โดยหลายฝ่ายก็ทยอยแสดงความเห็นว่า สำนักงานประกันสังคม และผู้ที่เกี่ยวซ้องควรเดินหน้าปรับปรุงในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการการเลือกตั้งมากขึ้นตามครรลองประชาธิปไตย เพื่อให้มีตัวแทนเจ้าของเงินเข้าไปดูแลเงินที่เขาจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมในทุกๆ เตือน แต่ล่าสุดกลับกลายเป็นว่ากระทรวงแรงงานกำลังทุ่มแรงทำลายการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนแทน เพราะร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ที่กระทรวงแรงงานจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีเนื้อหาของร่างกฎหมายเหมือนว่า ประกันสังคมต้องการจะย้อนเวลาตามหายุค คสช. กลับไปล้าหลังกว่าเดิม” นายเซีย กล่าว

นายเซีย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ใช้งบประมาณจัดการเลือกตั้ง เกือบ 100 ล้านบาท แต่คนมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงล้านคน จากผู้ประกันตน 24 ล้านคน ผู้ที่มีสิทธิ์ 10 ล้านกว่าคน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้สรุปบทเรียนการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ ว่าเกิดจากอะไร การประชาสัมพันธ์น้อยไปหรือไม่ การลงทะเบียนผ่านเว็บไชต์ประกันสังคมมีปัญหาจริงหรือไม่ การเดินทางไปหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ห่างไกลร่วมร้อยกิโลเมตร ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้จริงใช่หรือไม่ มิหนำซ้ำ หน่วยเลือกตั้งเหล่านี้หลายหน่วย ก็ไม่รับรองผู้พิการด้านต่างๆ อีกด้วยหรือไม่ ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นอย่างไร ควรที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้การเลือกตั้งในครั้งหน้าดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ทำไมถึงกลับมาแก้ไขกฎหมายให้ถอยหลังลงคลองเช่นนี้ หรือที่ผ่านมากระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ไม่เคยคิดอยากให้มีการเลือกตั้งในรูปแบบ 1 สิทธิ์ 1 เสียง มีใครได้ประโยชน์อะไร จากการแต่งตั้งบอร์ดประกันสังคมหรือไม่

“วันนี้ในเมื่อเรามีกฎกติกาที่ก้าวหน้ามาไกลแล้ว ทำไมถึงได้มีความพยายามดึงถอยหลังกลับไปอีก ผมและคณะจึงขอคัดค้านในประเด็นดังกล่าว รวมถึงขอเชิญชวนสมาชิกคณะรัฐมนตรีทุกท่าน มาร่วมคัดค้านกับเราด้วย เพราะเราต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง ดังนั้น ในการเลือกตั้งขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของผู้ใช้แรงงาน ของคนทำงาน 99 % เราจึงสมควรปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่มัวหวาดระแวงการเลือกตั้งเยี่ยงรัฐบาลเผด็จการ” นายเซีย กล่าว