วันที่ 21 ก.พ.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาญัตติด่วนร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงวันที่ 4 เม.ย. 2559 พ.ศ... ที่ นายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ของนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ และของนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ เป็นผู้เสนอ

โดยนายยูนัยดี อภิปรายหลักการและเหตุผลว่า คำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ได้กำหนดให้ยกเว้นบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ไม่มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสมาชิก และเป็นส่วนสำคัญให้การแก้ปัญหาเกิดผลสัมฤทธิ์ ขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ของ คสช. ไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วม เดิมสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน สามารถเสนอแนะ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบประเมินการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และให้ความเห็นแก่นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อประกอบการพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้ออกไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่คำสั่ง คสช. ทำให้สภาที่ปรึกษาฯ ถูกลดทอนอำนาจหน้าที่ลงไป จึงขอเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว เพื่อให้สภาที่ปรึกษาเดิม ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายหลักการและเหตุผลแทนนายรอมฎอน ว่า คำสั่ง คสช. ได้เพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน. เพื่อขยายอำนาจฝ่ายทหารมาควบคุมกิจการของพลเรือน ซึ่งมองว่า กำลังเดินไปผิดทาง จึงเสนอให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว เพื่อยุติบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ฟื้นฟูสภาที่ปรึกษาฯ และจำกัดบทบาทของ กอ.รมน.

ด้านนายชูศักดิ์ อภิปรายว่า เป็นการรวมศูนย์อำนาจไปไว้ที่ส่วนกลางเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน การบริหารเช่นนี้เป็นผลทำให้การบริหารปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังมีปัญหาเพิ่มขึ้น แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายหน่วยงานว่า ควรยกเลิกคำสั่ง คสช. แล้วกลับไปใช้กฎหมายเดิม กล่าวได้ว่าทั้ง 3 ร่าง พ.ร.บ. ที่มีผู้เสนอมา มีเจตจำนงเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตามระบบกฎหมายของไทยขณะนี้ ถ้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ แล้วออกคำสั่งประกาศต่างๆ ใช้เวลาเท่าใด บางท่านก็ว่าใช้เวลาวันเดียว พอยึดอำนาจแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกกฎหมายอะไรได้หมด หากเราจะยกเลิก ต้องเสนอร่าง พ.ร.บ. ผ่านวาระต่างๆ อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหรือเป็นปี

“เรื่องนี้สภาฯควรต้องตระหนัก ว่าระบบแบบนี้ควรหมดไปจากประเทศไทย โดยทั้งสภาฯ และศาล ต้องไม่ยอมรับประกาศคำสั่งใดๆ ไม่ยอมรับการยึดอำนาจรัฐประหารว่าไม่ใช่สิ่งดีงาม ไม่ร่วมมือด้วย ฝากเป็นข้อคิดอุทาหรณ์ไปยัง สส. ว่าเราควรต้องตระหนักถึงหน้าที่ของเราในส่วนนี้”นายชูศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากนั้นได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่ไม่ปรากฏว่ามี สส. จากพรรคพลังประชารัฐ อภิปรายในญัตติดังกล่าวแต่อย่างใด

จากนั้นที่ประชุมมีมติรับหลักการของร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับด้วยคะแนน 421 เสียงไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 1 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 31 คน