“นายกฯ” แนะ2กระทรวงใหญ่ “ทส.-เกษตรฯ” ลดกำแพงพูดคุยช่วยกันทำงาน ด้าน“หัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน”เปิดโปงขบวนการรุกที่อุทยานฯ ทำกันมานานแล้ว เผยเคส”อุทยานฯเขาใหญ่” น่าจะเป็นขบวนการเดียวกัน เคยแจ้งดำเนินคดี “ส.ป.ก.โคราช” จนถูกย้ายไม่กี่เดือนก็ย้ายกลับมาที่เดิม เตรียมรวบรวมเอกสารยื่น”ปปช.”เช็กบิล

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.67 นายประวัติศาสตร์ จันทรเทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวถึงกรณีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. รุกล้ำแนวเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ ว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกในการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.ในพื้นที่อุทยานฯ ในส่วนของอุทยานฯ ทับลาน เกิดปัญหานี้มานาน และมีการดำเนินคดีไปแล้ว ซึ่งที่เป็นข่าวใหญ่คือกรณีรีสอร์ทการ์มองเต้ ซึ่งขณะนั้นอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่เราไม่ยอม และได้ทำเรื่องเสนอกรมอุทยานฯ ให้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดว่าเหตุใดจึงสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งเป็นเพราะเขาอ้างว่าเป็นพื้นที่ส.ป.ก. อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบตอนนี้อัยการสูงสุดสั่งให้นำเรื่องกลับมาพิจารณาฟ้องใหม่แล้ว


นอกจากนั้น อุทยานฯ ทับลานยังได้เตรียมข้อมูลการออก ส.ป.ก. ในพื้นที่อุทยานฯ เพื่อยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. โดยได้รับแบบฟอร์มจาก นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานฯ แล้ว เพื่อเป็นการสำทับว่าพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ชุดนี้ มันไม่ใช่ครั้งแรก เพราะอุทยานฯ ทับลานเคยดำเนินคดีกับ ส.ป.ก.นครราชสีมามาแล้ว ซึ่งแทบจะเป็นชุดเดียวกันกับกรณีเขาใหญ่ เพียงแต่คนเซ็นชื่อเปลี่ยนกันบ้างส่วนในขบวนการแทบจะเรียกว่าเป็นชุดเดียวกัน อย่างไรก็ตามทราบว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับรีสอร์ทการ์มองเต้ที่เคยโดนโยกย้ายไปนั้น ถูกย้ายไปเพียงไม่กี่เดือน สุดท้ายก็ได้กลับมาที่เดิมแล้ว


สำหรับอุทยานฯ ทับลาน ที่ผ่านมามีการใช้กลไกของคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในการแก้ปัญหาพื้นที่ ซึ่งในส่วนของอุทยานฯ ทับลานคัดค้านมาตลอดว่าเห็นควรแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายอุทยานฯ 2562 ซึ่งสามารถอนุญาตให้ชาวบ้านทำกินในพื้นที่ได้ แต่ยืนยันว่าในส่วนคดีบุกรุกที่ดำเนินคดีไปแล้ว หรือพบการก่อสร้าง อะไรที่ไม่ถูกต้องเราดำเนินคดีใหม่ทันที เพราะหนึ่งในมติ ครม.ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่าห้ามนำเรื่องการแก้ปัญหาคทช. มายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม 
ดังนั้นคดีเหล่านี้เกิดตั้งแต่ปี 2554-2555 จึงย้อนเวลาไม่ได้ เพราะตอนนั้นคุณกระทำผิดกฎหมาย แต่แปลงคดีเหล่านี้เขาก็พยายามซื้อเวลา จึงเป็นเรื่องลำบากของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเป็นพยานในศาล ลำบากอัยการที่จะต้องมาคอยถกเถียงกับบุคคลเหล่านี้ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการผลักดันเรื่องนี้ โดยอ้างราษฎร แต่จริงๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว เพราะชาวบ้านสามารถทำกินในพื้นที่ได้โดยไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเครื่องมือที่เอาไปให้ ส.ป.ก. ดำเนินการ ซึ่งในอนาคตจะออกเป็นโฉนดได้หรือไม่ และหากถึงตอนนั้นที่ดินจะตกอยู่กับใคร สุดท้ายชาวบ้านก็ยังจนเหมือนเดิมเพราะขายที่ดินไป หรือเขาเอามาเป็นนอมินีให้เท่านั้นเอง


“ในกระบวนการฟ้องศาลปกครองมันไม่มีแพ้ เพราะพื้นที่อุทยานฯ ป่าสงวนฯ ก็ผิดกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าคุณอยู่โดยไม่มีเอกสารรับรองก็คือผิดแต่แรก คุณจะไปเอา ส.ป.ก.มาทีหลัง ซึ่งจริงๆ ก็คล้ายๆ เขาใหญ่ แต่เขาใหญ่มันโจ่งแจ้ง น่าเกลียดตรงที่ว่าคุณไปให้ในพื้นที่ป่า แต่ทับลานคุณไปให้ในพื้นที่ๆ มันเป็นแปลงคดี ซึ่งก็น่าเกลียดเหมือนกัน แต่ความรู้สึกอาจจะต่างกันเพราะสภาพพื้นที่มันเป็นที่ทำกิน แต่ผืนดินตัวที่ดินตามข้อกฎหมายมันคือพื้นที่ของคนทั้งประเทศเป็นพื้นที่อุทยานฯ”


นายประวัติศาสตร์ กล่าวอีกว่า ในอุทยานฯ ทับลานมีพื้นที่ที่อ้างว่าเป็น ส.ป.ก. 8,000 ไร่ เป็นพื้นที่ๆ บวมออกมา จากที่มันทับซ้อนพื้นที่ประกาศส.ป.ก กับป่าวังน้ำเขียวอยู่ 5 หมื่นกว่าไร่ ถ้าใช้หลักการวันแม็พที่ถูกต้องตรงนี้โอเคว่าอาจจะต้องเพิกถอนให้ ส.ป.ก. ไป ซึ่ง ส.ป.ก.ก็ออก 4-01 ในพื้นที่นี้ไปแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2525 หลังประกาศเขตอุทยานฯ แต่ในส่วนของ 8,000 ไร่ คือมันเลยออกมาอีกเข้ามาในเขตอุทยานฯ และป่าสงวนฯอีกแห่ง ซึ่งกำลังรวบรวมเอกสารที่เราพบแล้ว โรงแรม รีสอร์ท ที่ถูกดำเนินคดี เพิ่งไปขอออก ส.ป.ก.เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี่เอง เราได้มาสัก 6-7 แปลง เป็น ส.ป.ก.4-01 ตอนนี้เรารวบรวมและทำรายงานเข้าไปที่กรมอุทยานฯ ซึ่งผอ.สำนักอุทยานฯ สั่งการให้รายงานให้ ถ้าเกิดเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับเขาใหญ่ ก็จะได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ในคราวเดียวกัน


ทั้งนี้ เชื่อว่าทั้ง 8,000 ไร่ มีการขอออก ส.ป.ก.4-01 ไปหมดแล้ว เผลอๆ เป็นหลายร้อยใบหรือกี่ใบก็ยังไม่รู้ เป็นการดำเนินการหลังจากที่อุทยานฯ ทับลานจับกุมดำเนินคดี ซึ่งทราบว่าเขาเพิ่งมาเริ่มกระบวนการออก ส.ป.ก. เมื่อปี 2559 มีการเดินสำรวจต่างๆ โดยเราได้แจ้งความดำเนินคดีไปอีกเมื่อปี 2560 แต่ตอนนี้เชื่อว่าออกเป็น 4-01 ไปหมดแล้ว เพราะเขาอ้างว่าเป็นพื้นที่ดำเนินการของเขา แต่เป็นการเข้ามาดำเนินการโดยไม่ตรวจสอบและไม่สนว่าเป็นพื้นที่ป่าหรือไม่


ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐาทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานประชุมมอบนโยบายคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 / 2567 โดย นายเศรษฐา กล่าวตอนหนึ่ง ว่า การที่เรามาพบกันอย่างไม่เป็นทางการ หลายเรื่องน่าจะช่วยเหลือกันได้เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีอะไรที่ล้ำกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่เยอะ หรือกระทรวงพลังงานก็มี ตรงนี้ตนอยากให้มีการพูดคุย ที่จริงแล้วก็อาจเป็นคนละพรรค ตรงนี้อยากให้ลดกำแพงลงหน่อยจะได้พูดคุยกันได้ และอยากให้มาพูดคุยกันดีกว่า เพราะเราต้องทำงานอีก 3 ปีครึ่ง เป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอที่จะช่วยกันได้ หรือโยกย้ายก็มีการพูดคุยกันได้ จึงอยากฝากไว้ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง