แม้ยังนับคะแนนเสียงไม่เสร็จ แต่ก็ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า “พล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต” จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย” ต่อจาก “นายโจโก วิโดโด” หรือ “โจโกวี” ที่ใกล้จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปในปลายปีนี้

สำหรับ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อันตรงกับช่วงเทศกาลวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ ที่ปรากฏว่า ประชาชนชาวอินโดนีเซีย ที่มีสิทธิออกเสียง ต่างเทคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ “พล.ท.ซูเบียนโต” ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี และ “นายยิบราน รากาบูมิง รากา” บุตรชายคนโตของประธานาธิบดีวิโดโด ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น “รองประธานาธิบดี” ของ พล.ท.ซูเบียนโต

โดย พล.ท.ซูเบียนโต และคู่หู ได้คะแนนเสียงไปแล้วกว่าร้อยละ 59 ซึ่งถึงแม้ว่ายังนับคะแนนไม่เสร็จ โดยนับไปแล้วร้อยละ 75 แต่ก็ต้องบอกว่า พล.ท.ซูเบียนโต จะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ โดยมีนายยิบราน เป็นรองประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย ค่อนข้างจะแน่ เพราะคะแนนทิ้งห่างบรรดาผู้สมัครฯ คู่แข่งคนอื่นๆ กว่าครึ่งต่อครึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นนายอานีส บาสเวดาน อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นผู้สมัครฯ อิสระ ที่ตามมาเป็นลำดับที่ 2 แบบห่างๆ ที่คะแนนร้อยละ 25 กว่าๆ และนายกันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าการ จ.ชวากลาง ผู้สมัคฯ จากพรรคพีดีไอ-พี ที่ได้คะแนนตามหลังทิ้งท้ายสุดที่ร้อยละ 16 กว่าๆ เท่านั้น

เมื่อเป็นที่แน่ชัดเช่นนี้ ก็ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ ต่างพากันแสดงทรรศนะเกี่ยวกับการบริหารประเทศด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในประเทศและนอกประเทศของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ และรองประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย ที่จะมีขึ้นนี้ โดยจะมีการรับตำแหน่ง และกระทำพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ตุลาคมปลายปีนี้

โดยทรรศนะของบรรดานักวิเคราะห์เกี่ยวกับการบริหารด้านต่างๆ ภายในประเทศนั้น ก็คาดการณ์กันว่า ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในสมัยของ “โจโกวี” ครองเมืองมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต้องปรบมือให้แก่ประธานาธิบดีวิโดโด ที่สามารถทำผลงานด้านนี้ได้ดีเป็นพิเศษ จากการที่ทำให้ตัวเลขของ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” หรือ “จีดีพี” ของอินโดนีเซีย ขยายตัวเติบโตราวๆ ร้อยละ 5 ตลอดช่วง 10 ปีที่ “โจโกวี” นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ยกเว้นในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 ที่อาจจะสะดุดไปบ้าง ซึ่งก็เป็นธรรมดาในหลายประเทศทั่วโลกที่เผชิญกับวิกฤติโรคระบาดอันน่าสะพรึงเมื่อ 3 – 4 ปีก่อน ทว่า ประธานาธิบดีวิโดโด ก็ทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซีย หวนกลับมาตั้งหลักฟื้นคืนได้เป็นอย่างดี หลังประเทศผ่านพ้นวิกฤติมหันภัยโรคร้ายดังกล่าวไป

ทั้งนี้ ก็ด้วยอานิสงส์ของการดำเนินนโยบายระดมทุนจากต่างประเทศของประธานาธิบดีวิโดโด นั่นเอง ที่เปิดโอกาสให้บรรดานักลงทุนจากต่างแดน สามารถลงทุนได้โดยตรง หรือที่เรียกว่า “เอฟดีไอ” (FDI : Foreign Direct Investment) ผลปรากฏว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีวิโดโด สามารถระดมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศได้มากเป็นประวัติการณ์ ด้วยเหตุจูงใจที่อินโดนีเซีย มีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินแร่ เช่น นิกเกิล เป็นต้น เป็นจำนวนมาก ที่กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินจากบรรดานักลงทุนต่างชาติทั้งหลายให้มาแดนอิเหนา อันเป็นนิกเนมของประเทศอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์ก็จับตาจ้องมองเกี่ยวกับนโยบายด้านการต่างประเทศ และการทหาร ของ พล.ท.ซูเบียนโต ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นโยบายเกี่ยวกับประเทศจีน” หรือ “จีนแผ่นดินใหญ่” ว่าจะดำเนินไปอย่างไรนับจากนี้

โดยเมื่อกล่าวถึง พล.ท.ซูเบียนโต ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” และอดีตเคยเป็น “ผบ.หน่วยโคพาซัส (Kopassus)” ซึ่งก็คือหน่วยรบพิเศษหน่วยหนึ่งของกองทัพอินโดนีเซีย เคยมีประวัติด้านมืดกับชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน และชาวจีนที่พำนักอยู่ในอินโดนีเซียมาแล้ว เมื่อครั้งที่เกิดเหตุจลาจลาครั้งใหญ่ในปี 1998 (พ.ศ. 2541) ซึ่งเกิด “วิกฤติการเงินในภูมิภาคเอเชีย” หรือที่เรียกว่า “วิกฤติต้มย้ำกุ้ง” ที่ลุกลามจากไทยไปถล่มต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซียด้วย จนเกิดชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ และนำไปสู่การเกิดจลาจลในอินโดนีเซียในที่สุด ซึ่งปรากฏว่า เกิดการปล้นสะดมร้านค้าชาวจีนในอินโดนีเซีย และเข่นฆ่าชาวจีนในอินโดนีเซีย กันขึ้น อันสืบเนื่องจากการโยนบาปวิบัติทางเศรษฐกิจของประเทศว่า ชาวจีนในอินโดนีเซียมีส่วนสำคัญ

โดยมีรายงานตัวเลขความรุนแรงของม็อบชาวอินโดนีเซียกระทำต่อชาวจีนในอินโดนีเซีย เป็นประการต่างๆ ไม่ว่าจะการสังหารจนมีชาวจีนเสียชีวิตกว่า 1,200 ราย สตรีชาวจีนถูกข่มขืนอีกกว่า 170 ราย และร้านค้า ตลอดจนบ้านเรือนของชาวจีนถูกเผาทำลายไปกว่า 5,000 หลัง ซึ่งกล่าวกันว่า มีทหารในสังกัดหน่วยรบพิเศษของนายพลซูเบียนโต พัวพันอยู่ด้วย รวมถึงการเข่นฆ่า และลักพาตัวต่อบรรดานักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลานั้นไปอีกจำนวนหนึ่ง

เหตุประท้วงที่นำไปสู่จลาจลครั้งใหญ่ต่อต้านชาวจีนในอินโดนีเซีย เมื่อปี 1998 (พ.ศ. 2541) (Photo : AFP)

ส่วนในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ พล.ท.ปราโบโว ซึ่งแม้เป็นหนึ่งในรัฐมนตรี แถมผู้สมัครฯ เป็นรองประธานาธิบดีเป็นบุตรชายของนายวิโดโด แต่เขาก็วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของประธานาธิบดีวิโดโดกับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเผ็ดร้อน อาทิเช่น การปล่อยให้การลงทุนจากจีน ซึ่งแม้จะมีเม็ดเงินเข้ามา แต่ก็ปรากฏว่า คนพวกนี้เข้ามาแย่งงาน แย่งอาชีพของประชาชนชาวอินโดนีเซียไปส่วนหนึ่ง และการมาของเงินทุนจากจีน ก็ส่งผลกระทบเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย และสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่อินโดนีเซียมิใช่น้อย ไม่นับเรื่องการอ่อนข้อหย่อนแต้มให้แก่จีน จากกรณีที่จีนพยายามรุกล้ำน่านน้ำของหมู่เกาะนาทูนาของอินโดนีเซีย ด้วยการอ้างกรรมสิทธิ์ การแทรกซึมผ่านการทำประมง เหมือนกับที่จีนกระทำกับบรรดาเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลจีนใต้ จนเกิดการพิพาทกับหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หมู่เกาะนาทูนาของอินโดนีเซีย ที่น่านน้ำมีข้อพิพาทกับจีนในช่วงที่ผ่านมา (Photo : AFP)

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย คงไม่กระทำการใดๆ ในการเผชิญหน้ากับจีน แต่ถ้าหากจีนยังคงเดินหน้าขยายบทบาทในทะเลจีนใต้ จนกระทบต่อน่านน้ำของอินโดนีเซีย ก็อาจได้เห็น พล.ท.ซูเบียนโต อาจตอบโต้จีนอย่างรุนแรงกว่ารัฐบาลโจโกวีก็เป็นได้ โดยว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย อาจเพิ่มระดับความสัมพันธ์ด้านต่างๆ รวมถึงด้านการทหารกับประเทศที่อยู่ในย่านทะเลจีนใต้ และแปซิฟิกมากขึ้น อย่าง ออสเตรเลีย เป็นต้น