ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ความวิตกกังวลของชาวโลกต่อความขัดแย้งขนาดใหญ่ที่อาจบานปลายไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 นั่นคือ ความขัดแย้งใน 3 สมรภูมิ

1.ความขัดแย้งฮามาส-อิสราเอล

2.ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย

3.ความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน

แม้ว่าสงครามขนาดใหญ่จะยังไม่เกิดขึ้น แต่ความตึงเครียดใน 3 สมรภูมินี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อโลกอย่างเป็นนัยสำคัญ

เริ่มจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากการแซงก์ชันแต่ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ และพันธมิตรที่มีต่อรัสเซีย ทำให้ราคาพลังานเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งราคาอาหาร เช่น ข้าวสาลีที่รัสเซียกับยูเครนเป็นประเทศหลักในการผลิตของโลก ต้องเกิดปัญหาในการส่งออกข้าวสาลีไปยังตลาดที่หลายส่วนขาดแคลนอาหารอย่างแอฟริกา

ผลกระทบในด้านการเงินและการลงทุน อันเกิดจากการที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจเกิดอาการบิดเบี้ยว เนื่องจากสหรัฐฯผู้สนับสนุนหลักในการทำสงคราม จึงจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลจนเป็นหนี้สาธารณะถึงกว่า 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเกินกว่า 125% ของ GDP ไปแล้ว และยังคงเพิ่มต่อไป

แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือประชาชนอเมริกัน ผู้จ่ายภาษีทั้งทางตรง ทางอ้อม ต่างต้องรับภาระเพิ่มขึ้นในขณะที่ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลกลางตามที่ควรเป็น คนไร้ที่อยู่เพิ่มมากขึ้น อัตราหนี้ในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตและค้าอาวุธได้รับเงินรายได้และกำไรเพิ่มอีกหลายเท่าตัว

ทว่าผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงและความมั่นใจต่อค่าเงินดอลลาร์อันเป็นเงินสกุลหลักในการค้าขาย นอกจากนี้การเป็นหนี้สาธารณะมหาศาลของสหรัฐฯ ทำให้ต้องออกพันธบัตรเพื่อมาใช้หนี้ แบบกู้เงินมาใช้หนี้ จึงทำให้เกิดการปั่นป่วนในตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ และส่งผลกระทบต่อการลงทุนด้วยปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและผลกระทบจากสงครามโดยตรง

นอกจากความตึงเครียดทางด้านเศรษฐกิจที่แพร่กระจายไปจนกระทบถึงเศรษฐกิจโลกที่บอบว้ำมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ความตึงเครียดทางการเมืองก็มิได้ยิ่งหย่อนกัน มีการใช้เวทีนานาชาติในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากนานาชาติ เช่น การใช้เวที UN หรือการรวมกลุ่มทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น กลุ่ม G7 กลุ่ม BRICC กลุ่ม SCO กลุ่มยูเรเชีย กลุ่มQUAD กลุ่ม ANZUS และกลุ่ม AUKUS กลุ่ม FIVE EYES และ นาโต

ทางด้านการทหารก็มีการร่วมมือกันซ้อมรบมากขึ้น จากกลุ่มพันธมิตรของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมรบในมหาสมุทรแปซิฟิค ในแอตแลนติก ในทะเลเหนือ รวมทั้งคอบร้าโกล

ด้านอาวุธก็มีการร่วมมือและจัดส่งอาวุธ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ก็จัดส่งอาวุธไปให้ยูเครนในรูปเงินกู้ หลังจากที่สหรัฐฯ ยุโรป ในนามนาโตจัดส่งมาตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ส่วนรัสเซียเองก็มีการจัดซื้ออาวุธ เช่น ขีปนาวุธและโดรนจากอิหร่านจำนวนมาก และซื้อขีปนาวุธกับกระสุนปืนใหญ่ 3 ล้านนัดจากเกาหลีเหนือ

ที่ทวีความรุนแรง ในอีกรูปแบบที่ไม่ใช่สงครามทางกายภาพ  รบกันด้วยอาวุธก็คือสงครามข้อมูลข่าวสาร สงครามด้านเทคโนโลยีและอิเลกทรอนิกส์ สงครามไซเบอร์ สงครามในอวกาศก็เริ่มมีการเตรียมตัวพัฒนาศักยภาพกันอย่างต่อเนื่อง

บัดนี้ฮูตีได้ทำตามสัญญาแล้ว คือถ้าไม่หยุดโจมตีเยเมนและปิดล้อมกาซาเรือเมกา อังกฤษ และอิสราเอล หรือเรือที่ไปหรือมาจากอิสราเอลจะถูกโจมตี

นักวิเคราะห์ทั้งหลายจึงพยายามคาดคะเนจากปรากฏการณ์และการข่าวว่าเหตุการณ์ตึงเครียด ทั้ง 3 สมรภูมินี้จะจบลงอย่างไร บางส่วนที่มองในแง่ดีก็อาจจะมองว่าสุดท้ายก็หมดแรงและต้องหันมาเจรจากัน เพื่อยุติศึก ส่วนการรบที่เกิดขึ้นก็จะไม่ขยายตัวไปเป็นสงครามใหญ่ แต่จะเป็นรูปสงครามตัวแทนที่รบยืดเยื้อทำนอง COLD WAR-HOT PEACE

ด้านที่มองในแง่ร้ายก็ประเมินว่าสงครามจะบานปลายเป็นการเผชิญหน้าโดยตรงของมหาอำนาจ 2 ขั้ว คือ สหรัฐฯกับพันธมิตร และจีน-รัสเซียกับพันธมิตร เพราะเหตุการณ์มันปะทุและแพร่กระจายมากขึ้น มีการข้ามเส้นแดงมากขึ้น และมีการยกระดับการเผชิญหน้ามากขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค เช่น ในภูมิภาคละตินอเมริกา ภูมิภาคเอเชียตะวันตกขยายตัวมาสู่เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดังนั้นการเผชิญหน้าที่ตึงเครียดมากขึ้น และขยายตัวมากขึ้นก็จะทำให้เกิดสงครามใหญ่ จนถึงขั้นการใช้นิวเคลียร์ในที่สุด

แต่ความสำคัญของการศึกษาสถานการณ์นั้น มิได้อยู่ที่ปลายเหตุ แต่ความสำคัญอยู่ที่ต้นเหตุ ซึ่งจะขอสรุปโดยสังเขปดังนี้

1.สงคราม ฮามาส-อิสราเอล ต้นสายปลายเหตุเกิดจากปัญหาชาวยิวในยุโรป ที่ชาวคริสต์ตั้งแต่สมัยกลางมีความรังเกียจ เช่น การแสดงออกในวรรณกรรมของเชกสเปียร์ เรื่อง “The Merchant of Venice” หรือที่ล้นเกล้าฯ ร.6 นำมาทำเป็นบทกวีนิพนธ์ชื่อ “เวนิ วาณิชย์”

ต่อมาในยุคที่อังกฤษมีชัยในสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้เข้ามายึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์จากจักวรรดิออตโตมัน จึงได้มีกระบวนการสมคบคิดกันโดยร่วมมือกับชาวยิวไซออนิสต์ วางแผนจัดตั้งประเทศให้ชาวยิว เพื่อระบายออกจากยุโรป โดยสร้างเรื่องราวให้สอดรับกับพระคัมภีร์ไบเบิล

ลอร์ดบัลโฟร์ รมต. ต่างประเทศอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำข้อตกลงบัลโฟร์สนับสนุนให้ยิวไซออนิสต์มาตั้งประเทศในปาเลสไตน์ และสนับสนุนให้สหประชาชาติออกมติที่ 181 ให้มีการจัดตั้งประเทศอิสราเอลในปีค.ศ.1947 โดยในมติกำหนดให้จัดตั้งประเทศอิสราเอล และประเทศปาเลสไตน์ นอกจากนี้ยังห้ามมิให้มีการขับไล่คนปาเลสไตน์พื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ประเทศอิสราเอลที่แบ่งเขตให้ตามมตินั้น

แต่อิสราเอลละเมิดทุกข้อ ด้วยการเข่นฆ่าคนพื้นเมืองปาเลสไตน์จนต้องอพยพหนีภัยออกมาประมาณ 7-8 แสนคน

เท่านั้นยังไม่พอยังทำการยั่วยุ จนเกิดสงครามหลายครั้งและทุกครั้งก็ขยายดินแดนออกมาทุกที ในขณะที่ก็ได้กดขี่ ข่มเหง จับกุมคุมขังและเข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ในเขตยึดครองอย่างเป็นระบบเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และยึดครองดินแดน (GENOCIDE)

สหประชาชาติก็ได้มีมติในระยะต่อมาให้อิสราเอลถอนกำลังออกไปจากดินแดนยึดครองหลังปี 1967 และจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ โดยมีเยรูซาเล็มฝั่งตะวันออกเป็นเมืองหลวง

แต่อิสราเอลก็มิได้ปฏิบติตามมติใดๆของสหประชาชาติทั้งสิ้น และเมื่อเรื่องเข้าคณะมนตรีความมั่นคง สหรัฐฯก็วีโตขัดขวางกระบวนการที่จะตั้งประเทศปาเลสไตน์และยุติศึก แม้ล่าสุดยังวีโตการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมอีกด้วย

ทางแก้ปัญหาเพื่อสร้างสันติสุขคือหยุดอิสราเอลต่อการดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปาเลสไตน์ และคืนดินแดนให้ชาวปาเลสไตน์ ได้จัดตั้งประเทศของตนเองในลักษณะ Two-State หรือ จัดตั้งเป็น One State โดยชาวปาเลสไตน์มีสิทธิเท่าเทียมกับชาวยิวทุกประการ

ทั้งนี้สหรัฐฯก็คงต้องถอนตัวจากการสนับสนุนแบบผิดๆที่มีแต่การก่อความเสียหาย และจะทำให้สงครามบานปลายในที่สุด

2.สงครามยูเครน-รัสเซีย ความขัดแย้งเริ่มจากการไม่รักษาคำพูดของสหรัฐฯ หลังจากมีการทำลายกำแพงเบอร์ลิน จนนำไปสู่การรวมชาติเยอรมัน นั่นคือนาโตจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปเพียงแต่การดำรงสถานะเป็นเพียงสัญลักษณ์

แต่เมื่อเกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และนำมาสู่การล่มสลายของสนธิสัญญาวอซอร์ นาโตโดยสหรัฐฯก็ทำการขยายตัวไปยังยุโรปตะวันออก จนเป็นการกดดันรัสเซียไปสู่ความหวั่นวิตกในความมั่นคงของตนเอง

เหตุการณ์บานปลายมาจนมีการสนับสนุนของตะวันตกให้มีการล้มล้างรัฐบาลของนายยานโควิช ที่โปรรัสเซียในยูเครน และนำมาสู่การครองอำนาจของนายเซเลนสกี ที่มีนโยบายโปรตะวันตก และประกาศกร้าวที่จะเข้าร่วมกับนาโต นอกจากนี้ยังมีการกดขี่ ข่มเหง ชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครนคือดอนบาส

สุดท้ายก็เกิดสงครามแม้จะมีความพยายามทำข้อตกลงแก้ปัญหาด้วยสัญญามิสส์ ถึง 2 ฉบับ

หนทางแก้ปัญหาคือการเจรจาสงบศึกและมีหลักประกันให้รัสเซียว่ายูเครนจะดำรงสถานะเป็นรัฐกันชน ให้รัสเซียต่อการขยายตัวของนาโต

3.ความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน ต้นเหตุคือการไม่ยอมรับความเป็นจริงว่าไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน ตามสภาพภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นหากจะแก้ปัญหา ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับความจริงนี้ และปล่อยให้มีการเจรจาเพื่อรวมชาติโดยสันติวิธี หรือมีตัวกลางร่วมเพื่อประนีประนอม

ครับการสร้างสันติภาพย่อมดีกว่าสงคราม ที่นำมาแต่ความสูญเสียและก่อให้เกิดผลกระทบในทางทำลายไปทั่วโลก